อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ พ.ศ. 2543, พ.ศ. 2553 และน้ำท่วมย่อยรายจุด ความร่วมมือเพื่อป้องกัน เตือนภัย และลดการสูญเสียและความเสียหายจึงเกิดขึ้นจากทั้งภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน
หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการวางแผนเตรียมรับมือระยะสั้นและระยะยาว คือ การเก็บข้อมูลปริมาณฝน และข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งสองด้านนี้เป็นดั่งต้นน้ำบนฟ้า) สู่ปลายน้ำบนดิน ซึ่งกำหนดทิศทางการไหลและระบายน้ำว่าจะไปสู่พื้นที่ใด และแต่ละพื้นที่มีโอกาสรับน้ำแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน และผลกระทบส่วนใดจะเกิดขึ้นมากน้อยกว่ากัน
‘PSU Broadcast’ สรุปความข้อมูลปริมาณฝน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และ การเปลี่ยนแปลงประชากรของอำเภอหาดใหญ่ จากส่วนหนึ่งของวงเสวนา ‘หาดใหญ่เข้มแข็ง สู้ภัยน้ำท่วมครั้งที่ 15 ปี 2567’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยวิทยากรจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก และ ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สภาพฝน จ.สงขลา ฝนตกมากขึ้นในค่าเฉลี่ย 30 ปี
คุณสมภพ วิสุทธิศิริ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก เผยว่าจากการเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก วัดปริมาณฝนตกสะสม ซึ่งจะคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยทุก 30 ปี และจะปรับค่าทุก 10 ปี
ในปี พ.ศ. 2567 มีค่าเฉลี่ย 3 ค่า ได้แก่ ข้อมูลช่วงปี พ.ศ. 2514-2543, ข้อมูลช่วงปี พ.ศ.2523-2553, และ ข้อมูลช่วงปี พ.ศ. 2533-2563 และจะปรับข้อมูลอีกครั้งในปี พ.ศ. 2573
คุณสมภพกล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านปริมาณฝนสะสมในรอบ 30 ปี จำนวนวันที่ฝนตก และ ปริมาณฝนเฉลี่ยต่อวัน พบว่า พื้นที่ของจ.สงขลา มีปริมาณสูงขึ้นในรอบ 10 ปีที่เก็บข้อมูลในทุกด้าน
ข้อมูลเฉพาะเดือนมกราคมจะพบว่าปริมาณฝนสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงค่าเฉลี่ย 30 ปี ได้แก่
- เดือน มกราคม พ.ศ. 2514-2543 อยู่ที่ 54.6 มิลลิเมตร (มม.) (เฉลี่ย 6.9 วันต่อเดือน)
- เดือน มกราคม 2524-2553 74.6 มม. (เฉลี่ย 10 วันต่อเดือน)
- เดือนมกราคม 2534-2563 อยู่ที่ 127.2 มม. (เฉลี่ย 11.2 วันต่อเดือน)
คุณสมภพมองว่าแนวโน้มฝนในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้น และจำนวนวันที่ฝนตกมากขึ้น ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมื่อปัจจุบันฝนที่ตกมีความเข้มสูง เป็นระยะสั้นและปริมาณเยอะ จะกระทบต่อพื้นที่และเมือง
การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศในระยะสั้น
นักอุตุวิทยาจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกเผยว่าในปี พ.ศ. 2567 นี้ ตนพบสิ่งที่แปลกไปจากปรากฎการณ์เดิม คือปริมาณตกในเดือนกรกฎาคม 2567 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี และตนมองว่าปัจจัยนี้เกิดจากผลกระทบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจากเดิมพื้นที่ลุ่มน้ำคลองหอยโข่งซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ. หาดใหญ่นี้ไม่เคยได้รับผลกระทบ
ในส่วนพื้นที่ ต.คอหงส์ เดือนสิงหาคม 2567 พบปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีเช่นกัน
ในส่วนของสถานีอุตุนิยมวิทยาพื้นที่สะเดา จะพบอีกเช่นกันว่า ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึงเท่าตัว และในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 พบค่าฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปีจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เช่นกัน
คุณสมภพมองว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป อาจส่งผลให้ปริมาณฝนในปี 2567 สูงกว่าค่าปกติ
สถานการณ์ในหาดใหญ่ ยังวางใจจากน้ำท่วมไม่ได้
คุณสมภพเผยว่าเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ในปี พ.ศ.2543 เกิดจากหย่อมความกดอากาศกำลังแรง และ ปี พ.ศ.2553 เกิดจากพายุดีเปรสชัน
ในฤดูมรสุมปลายปี พ.ศ.2567 นี้ เป็นปรากฎการณ์ลานีญา (ผลจากลมค้าพัดผิวน้ำทะเลอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกไปสะสมทางตะวันตก) ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของเมฆฝนในพื้นที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
คุณสมภพกล่าวว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้พื้นที่ อ.หาดใหญ่ จะมีการก่อสร้างคลองระบายน้ำที่ 1 (คลอง ร.1) จะเปิดใช้งานได้เต็มที่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่ยังไม่อาจกล่าวได้เต็มที่ว่าพื้นที่ อ.หาดใหญ่จะพ้นจากปัญหาน้ำท่วม
“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภายังไม่เท่ากับปี พ.ศ. 2543 หรือ พ.ศ. 2553 จึงยังกล่าวไม่ได้ว่าคลองระบายน้ำที่ 1 (คลอง ร.1) จะช่วยให้เราไม่ท่วม ผมคงตอบไม่ได้” คุณสมภพกล่าว
นอกจากประเด็นนปริมาณฝนตกที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว คุณสมภพมองว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางน้ำ การระบายน้ำคือการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อ.หาดใหญ่ และใกล้เคียง
หาดใหญ่: พื้นที่รับเกษตรกรรม-ป่าไม้ลด ประชากรลด แต่พื้นที่อยู่อาศัยเพิ่ม
ผศ.ดร. ธนันท์ ชุบอุปการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่และที่ดินใน อ.หาดใหญ่ จากการเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระยะเวลา 20 ปี
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยพิบัติภาคใต้ฯ กล่าวว่า จากพื้นที่ของ อ.หาดใหญ่ ทั้งหมด 134.67 ตร.กม. จากการเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2563 พบว่า โดยภาพรวมพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าไม้ลดลง และชุมชนเมือง พื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- พื้นที่เกษตรกรรม – พ.ศ. 2543 (83.59 ตร.กม.) → พ.ศ. 2563 (41.21 ตร.กม.) – ลดลง 31.47%
- พื้นที่ป่าไม้ – พ.ศ. 2543 (5.13 ตร.กม.) → พ.ศ. 2563 (4.90 ตร.กม.) – ลดลง 0.17%
- พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง → พ.ศ. 2543 (34.93 ตร.กม.) – พ.ศ. 2563 (70.67 ตร.กม.) – เพิ่มขึ้น 26.54%
- พื้นที่น้ำ พ.ศ. 2543 (1.87 ตร.กม.) → พ.ศ. 2563 (2.89 ตร.กม.) – เพิ่มขึ้น 0.75%
ผศ.ดร.ธนันท์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่งผลถึงแนวคิดการจัดการน้ำหากเกิดอุทกภัยโดยรวมว่าพื้นที่เกษตรมักจะเป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในพื้นที่ตัวเมือง เมื่อพื้นที่ทางเกษตรกรรมและป่าไม้ลดลงใน อ.หาดใหญ่ จะส่งผลต่อความสามารถในการระบายน้ำและรับน้ำน้อยลง
นอกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว การเก็บข้อมูลจำนวนประชากรในอำเภอหาดใหญ่ทั้ง 4 เทศบาล (ทน.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566 คือ เทศบาลเมืองคลองแห เทศบาลเมืองควนลัง เทศบาลเมืองคอหงส์ และเทศบาลนครหาดใหญ่ พบว่าประชากรลดลงในพื้นที่ ทน.คอหงส์ และ ทน.หาดใหญ่ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ทน.คลองแห และ ทน.ควนลัง
แต่ในด้านจำนวนหลังคาเรือน พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนหลังคาเรือนในทุกพื้นที่เทศบาล จากจำนวน 143,946 หลังคาเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 150,559 หลังคาเรือนในปี พ.ศ. 2566
ผศ.ดร.ธนันท์ ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการอยู่อาศัยเป็นครอบครัว ครัวเรือนละ 2-3 คน และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น เปลี่ยนแปลงจากการอยู่เป็นครอบครัวและชุมชนใหญ่เช่นเดิม
ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ท่วมย่อยพื้นที่รอบนอก ‘เขตเศรษฐกิจ’
ผศ.ดร.ธนันท์กล่าวว่าปัจจุบัน แม้ อ.หาดใหญ่ ห่างจากการเกิดน้ำท่วมใหญ่มา 14 ปี แต่มักจะเกิดน้ำท่วมเป็นพื้นที่ย่อยรอบนอก อ.หาดใหญ่ หรือพื้นที่น้ำท่วมย่อย เช่น ต.คอหงส์ใน พ.ศ. 2565
“เมื่อปีที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมในพื้นที่คอหงส์ จากเดิมที่ไม่คิดว่าคอหงส์จะไม่เกิดน้ำท่วม และเราไม่มีแผนรับมือเพราะคาดการณ์ว่าจะไม่เกิดปัญหา”
จากการทำวิจัยเก็บข้อมูลร่วม 15 ปี กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ลักษณะของฝนเปลี่ยนไป ส่งผลให้น้ำท่าเปลี่ยนไป และ ปัจจัยด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไป
ผศ.ดร.ธนันท์มองว่าแนวทางการรับมือปัญหาระยะยาวคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วยหลัก 2P2R – รู้รับ ปรับฟื้น (Preparedness การเตรียมพร้อม และ Prevention and Mitigation ป้องกันเพื่อบรรเทาความเสียหาย, Response การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และ Recovery ฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ)
“ถามว่าจะเกิดน้ำท่วมไหม เกิดแน่ๆ แต่ระดับไหน ไม่ว่ากรมกองต่างๆ จะสร้างคลองเท่าไรก็ตาม ถ้าเมืองยังถูกพัฒนารูปแบบนี้ จะมีปัญหาแบบนี้ตลอดไป” ผศ.ดร.ธนันท์กล่าวถึงความสัมพันธ์ของการวางแผนเมืองอย่างเชื่อมโยงถึงภาพรวมและยั่งยืน
หมายเหตุ: สรุปความส่วนหนึ่งจากการเสวนา ‘หาดใหญ่เข้มแข็ง สู้ภัยน้ำท่วมครั้งที่ 15 ปี 2567’
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ภานิชา ปณัยเวธน์
อ่านต่อ
สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เตือนโรคฉี่หนูระบาด พบผู้ป่วย 38 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภายใน 1 เดือน
ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ม.อ. จัดเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง สู้ภัยน้ำท่วม ครั้งที่ 13 ปี 2565 เพื่อวงแผนและป้องกันรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย
3 ปัจจัยชวนจับตา พร้อมรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่ 2567