3 ปัจจัยชวนจับตา พร้อมรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่ 2567

จากการรวบรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า จังหวัดสงขลาได้รับงบประมาณปี 2566 ในการจัดสรรแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมอยู่ที่ 1,484 พันล้านบาท ถือว่าเป็นจังหวัดที่ 3 รองจาก จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อุบลราชธานีที่ได้รับงบมากที่สุด และงบประมาณรับมือน้ำท่วมของประเทศไทยโดยภาพรวมให้ความสำคัญกับการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและระบบระบายน้ำเป็นหลัก

อำเภอหาดใหญ่ประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง เช่นปี พ.ศ. 2531, 2543 และ 2553 กับมีปรากฏการณ์น้ำท่วมรายจุดเป็นครั้งคราว (เช่น หน้าค่ายเสนาณรงค์) ปีล่าสุดใน พ.ศ. 2565  

หนึ่งในกลไกที่ภาคประชาชนเกิดการเรียนรู้และถอดบทเรียน คือ การมีทีมประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในการอ่านสถานการณ์น้ำ รับทราบข้อมูลอุตุวิทยา จนถึง การมีกล้องวงจรปิดจับภาพน้ำในแต่ละคลองและพื้นที่รับน้ำสำคัญขอ อ..หาดใหญ่เพื่อไม่ต้องรอการแจ้งเตือนจากภาครัฐ  ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนและเอกชนในนามมูลนิธิ SCCCRN (ศูนย์เรียนรู้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองหาดใหญ่)

‘PSU Broadcast’ ในรายการสภากาแฟ พูดคุยกับคุณชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลาและตัวแทนจาก SCCCRN ถึงการเตรียมพร้อมระบบเตือนภัยน้ำท่วมด้วยตัวเอง รวมถึงวิเคราะห์ 3 ปัจจัยที่ชวนจับตาในสถานการณ์น้ำเมืองหาดใหญ่ ในปี 2567 นี้

“การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือเตรียมความพร้อมเพื่อลดความสูญเสีย สำหรับประชาชนเราอาจใช้คำว่าการปรับตัว  งบประมาณที่ลงกับการก่อสร้างระบบวิศวกรรมป้องกันน้ำท่วมเป็นแสนล้านบาท แต่ถึงที่สุดถ้าฝนระดับดีเปรสชันมาก็รับไม่เพียงพอ” คุณชาคริตกล่าว

ปัจจัย 1 – ปรากฏการณ์ระเบิดฝน (Rainbomb)

ปัจจัยสถานการณ์น้ำอย่างแรกคือ ‘น้ำจากฟ้า’ ปรากฏการณ์ที่เห็นในอุทกภัยทางตะวันออกของออสเตรเลียปี 2022 และ น้ำท่วม จ.ตราด และเหตุดินสไลด์ใน จ. ภูเก็ตนั้น เกิดคำที่เรียกกันติดปากว่า ‘ระเบิดฝน (Rainbomb)’ 

ระเบิดฝนเป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์ของสภาพอากาศ ‘ไมโครเบิร์ส’ (Microburst) หรือกระแสอากาศที่เคลื่อนตัวจากบนลงล่าง เมื่อมีหยดน้ำในกระแสอากาศจะก่อให้เกิดฝนตกหนักกว่าฝนปกติ

คุณชาคริตเผยว่าระบบรับและระบายน้ำของหาดใหญ่นั้น รองรับน้ำได้ราว 60-80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง (มม./ชม.) ในกรณีที่เกิดฝนตกอยู่กับที่ หรือ Rainbomb จนถึงระดับพายุดีเปรสชันในปริมาณตั้งแต่ 100 มม./ชม. ติดต่อกัน 2-3 ชั่วโมง ก็อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้

“ระบบระบายน้ำของเมืองหาดใหญ่ รองรับได้ราว 60-80 มม./ชม. ถ้าจะต้องแก้ต้องรื้อท้ังเมือง” 

ปัจจัย 2 – เมืองขยายตัว เส้นทางน้ำเปลี่ยน

ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศเช่นนี้จะเชื่อมโยงกับลักษณะภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปของตัวเมือง ทั้งการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ โครงการขนาดใหญ่อย่าง การสร้างห้าง โครงการบ้านจัดสรร การสร้างถนน การเปลี่ยนแปลงผังเมือง ฯลฯ

เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการถมที่ดินเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการระบายน้ำและเส้นทางน้ำ  ในอดีตพื้นที่ไหนที่ไม่เคยท่วมอาจเกิดน้ำท่วมได้ คุณชาคริตยกตัวอย่าง บ้านหัวนอนกลาง ตำบลควนลัง เกิดน้ำท่วมหลังสร้างถนนใหญ่ซึ่งกีดขวางเส้นทางระบายน้ำเดิม 

ทั้งนี้ ระบบวิศวกรรมป้องกันน้ำท่วมในหาดใหญ่ เช่น คลองระบายน้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันน้ำท่วมระยะสั้นและปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง อีกด้านหนึ่ง จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นจุดและต้องเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหน้างานเพิ่มเติม 

หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ต้องมีการเตรียมพร้อมกลไกรับมือและประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ

ปัจจัย 3 – การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ 

ในเชิงหลักการบริหารจัดการน้ำหรือรับมือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น คุณชาคริตมองว่าจำเป็นต้องคิดถึง ‘ภูมินิเวศ’ ของพื้นที่ซึ่งไม่จำกัดแค่พื้นที่เขตการปกครอง แต่มองถึงปัจจัยพื้นฐานทางภูมิประเทศ พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งแต่ละโซนมีระบบน้ำ ผังการเดินทาง รวมถึงจุดเสี่ยงที่ต่างกันออกไป

การทำความเข้าใจ ‘ภูมินิเวศ’ นี้ นอกจากความรู้ ความเข้าใจส่วนบุคคลแล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะร่วมสร้างความเข้าใจองค์รวมขึ้นได้คือ การเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ ความสูง-ต่ำ การขยายตัวของเมือง แผนน้ำ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้กระจัดกระจายตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวง กรมของรัฐบาลส่วนกลางจนถึงรัฐบาลท้องถิ่น 

“การทำงานปัจจุบันยังมองทุกอย่างเป็นฟันเฟือง แยกขาดแต่ละส่วนจากกัน แต่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาพรวม และซับซ้อนต่างจากเดิม และเราคาดเดาไม่ได้”

ข้อเสนอเตรียมรับมือน้ำท่วม

ตัวแทนจากมูลนิธิชุมชนสงขลากล่าวถึงข้อเสนอต่อภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐในเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ และสร้างองค์ความรู้กับประชาชนในระยะยาว ดังนี้

  • เข้าถึงข้อมูลสาธารณะของภาครัฐอย่างเป็นองค์รวม: เปิดข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และนำข้อมูลพื้นที่สู่การวิเคราะห์ สร้างแบบจำลอง (model) ตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นแนวนโยบายรับมือและลดความเสียหายต่อชุมชนหากเกิดเหตุ
  • ทีมประเมินสถานการณ์: กลไกเกิดขึ้นจากข้อเสนอของภาคประชาชนตั้งแต่เหตุอุทกภัยปี พ.ศ. 2543 ใน อ.หาดใหญ่  ปัจจุบัน มี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นประธาน และประกอบด้วย ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์ และออกนโยบายได้ทันโดยลดข้อจำกัดกลไกราชการ

เว็บไซต์ระบบเตือนภัยน้ำท่วมด้วยตนเอง โดยมูลนิธิ SCCCRN และการสนับสนุนของประชาชน เข้าถึงได้ที่ https://www.hatyaicityclimate.org

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: แฟ้มภาพ

อ่านต่อ

เก็บเนื้อหาจากเสวนาครบรอบ 10 ปี น้ำท่วมหาดใหญ่ การ์ดอย่าตก

สถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ จัดเสวนา จับตาหน้าน้ำ 65 : สงขลาพร้อมแค่ไหน?

ม.อ. พร้อมรับมือและเป็นศูนย์ช่วยเหลือชุมชนหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *