ไขข้อเท็จจริง “ข่าวลืออมตะ” กลับมาหลอกหลอน ช่วงฝนตกหนัก จ.สงขลา

น้ำมาจากมาเลเซีย? อ่างสะเดาปล่อยน้ำ? น้ำท่วมเพราะพายุเข้า? รวม “ข่าวลืออมตะ” กลับมาหลอกหลอนสงขลา ช่วงฝนตกหนัก

1.ประเทศมาเลเซียปล่อยน้ำ?

“ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา” มีต้นน้ำบางส่วนอยู่ใกล้ชายแดนไทย – มาเลเซีย ส่วนภาพรวมชายแดนไทย – มาเลเซีย มีลักษณะเป็นสัน แบบที่เรียกว่า “สันปันน้ำ” คือจุดแบ่งเขตแดนจะมีความสูงที่สุด และพื้นที่ของทั้งสองประเทศจะค่อย ๆ ลาดต่ำลงมา

หมายความว่าภาพรวมของน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว เมื่อตกประเทศไหนก็จะไหลไปทางประเทศนั้น และอันที่จริงชายแดนไทย-มาเลเซียที่ จ.สงขลา ก็มีบางจุดที่ไทยเป็นเนินสูงแต่มาเลเซียลาดต่ำกว่า ทำให้น้ำจากไทยไหลไปมาเลเซียก็มี

2. อ่างเก็บน้ำคลองสะเดาปล่อยน้ำสู่หาดใหญ่?

“อ่างเก็บน้ำคลองสะเดา” หรือ “อ่างห้วยคู” เป็นอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ที่ตั้งอยู่บ้านห้วยคู ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา ความจุน้ำ 67.23 ล้าน ลบ.ม.

วัตถุประสงค์หลักใช้เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อเติมสู่คลองอู่ตะเภา ที่ผ่านมาแทบไม่เคยต้องเปิดบานระบายน้ำ ยกเว้นกรณีปล่อยน้ำไล่น้ำเสียในช่วงหน้าแล้งเพื่อให้ประปาหาดใหญ่สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพได้ 

หากจะเปิดน้ำหมดอ่างจริง ๆ น้ำที่กระจายอยู่ในทั้งลุ่มน้ำก็อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่มีผลในภาพรวมลุ่มน้ำเท่าไรนัก

ส่วนคำกล่าวที่ว่า “น้ำล้นสปิลเวย์” ที่มักใช้พูดกันด้วยความรู้สึกวิตกกังวลว่าเป็นสถานการณ์วิกฤตที่อาจมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนนั้น

ในความเป็นจริงแล้ว สปิลเวย์ (Spillway) คือช่องระบายน้ำส่วนเกินตามปกติ เมื่อระดับน้ำในอ่างสูงถึงจุดที่ทางวิศวกรรมได้ออกแบบไว้ ซึ่งก็หมายถึงว่าสถานการณ์ “น้ำล้นสปิลเวย์” มิได้หมายถึงน้ำที่ล้นออกมาเนื่องจากเกินความสามารถที่อ่างจะรับได้หรือล้นคันกั้นอ่างแต่อย่างใด

3. หาดใหญ่-สงขลา และภาคใต้เกิดน้ำท่วมเพราะพายุเข้า?

เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ถึงมกราคม เป็นช่วงเวลาของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดพาลมหนาวผ่านอ่าวไทยมากลายเป็นลมฝน

ผนวกกับปัจจัยอากาศอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนให้เกิดฝนตกมาก ไม่ใช่ “ฝนฟ้าแปรปรวน” หรือ “พายุเข้า”

ฝนประมาณร้อยละ 70 ของฝนทั้งปีมักจะมาตกในช่วงนี้ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะอุทกภัยดังที่ทราบกัน

อาจมีบ้างในบางปีที่มีพายุโซนร้อนหรือดีเปรสชันบ้าง แต่โดยมากเป็นเพียง “หย่อมความกดอากาศต่ำ” จึงไม่มีภาวะลมแรงและฝนซัดสาดรุนแรง 

เรื่องและภาพ: บัญชร วิเชียรศรี

อ่านต่อ

รวมช่องทางประสานงานฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือ ช่วงอุทกภัย

พื้นที่เกษตร-ป่าไม้ลด เมืองขยายตัว ความท้าทายรับน้ำท่วมหาดใหญ่ เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน

3 ปัจจัยชวนจับตา พร้อมรับมือน้ำท่วมหาดใหญ่ 2567

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *