ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน จึงถือเป็นเรื่องปกติอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
วันที่15 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 01:30 น. ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเคียงดวงจันทร์ ห่างกันประมาณ 3 องศา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ช่วงเวลาเดียวกันยังมีดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาด้านล่าง สังเกตได้จนถึงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
วันที่ 16 เมษายน 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนลงมาเคียงดาวอังคาร ห่างกันประมาณ 4.6 องศา ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล ช่วงเวลาเดียวกันยังมีดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีปรากฏถัดสูงขึ้นไป เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.20 น. จนถึงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจตื่นเช้าชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าตามวันเวลาดังกล่าว หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“ วันนี้ดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดในระบบสุริยะ เคลื่อนที่ไปอยู่ใกล้ดวงจันทร์ ประมาณ 3 องศา นับว่าเป็นองศาที่สวยมาก ส่วนพรุ่งนี้ดวงจันทร์ขึ้นช้า จึงเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งเล็กน้อย ห่างออกไป 4 องศา ทำให้มาอยู่ใกล้กับดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์สีแดง เมื่อแสงจากดวงจันทร์ส่องไปจะมองเห็นภาพที่สวยอีกแบบนึง หากฟ้าใสไร้เมฆบดบัง ก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ”
คุณธีรยุทธ ลอยลิบ เจ้าหน้าที่สารสนเทศชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าว