โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ภัยร้ายช่วงหน้าร้อน

ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และเป็นเรื่องธรรมดาที่เดือนเมษายนของทุกปีจะมีอากาศร้อนจัด เรียกได้ว่า อากาศร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด!! ซึ่งอากาศร้อนแบบนี้จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งกรมการแพทย์ได้แนะนำวิธีการรับมือกับอากาศที่ร้อนจัดว่าให้อยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น ฮีทสโตรก ??

สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ  รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน  เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน  รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว  ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น  และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไป ที่จะมีเหงื่อออกด้วย

“สัญญาณสำคัญคือ ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวเริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ปวดหัว มึนงง หัวใจเต้นเร็ว”

ใคร? ที่สามารถเป็น ฮีทสโตรก

ทุกคนสามารถมีอาการหรือเป็นโรคลมแดด (ฮีทสโตรก) แต่จะมีกลุ่มเสี่ยงในการเกิด โรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ  เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด  ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง   เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

“หากมีอาการให้รีบดื่มน้ำเกลือแร่ หาที่ร่มหรือที่ที่มีอากาศถ่ายเทแล้วนั่งพัก และรีบขอความช่วยเหลือจากคนในบริเวณนั้น”

ทำอย่างไร? ไม่ให้เป็น ฮีทสโตรก

  • ก่อนออกจากบ้านให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้วเสมอ เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • ใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่อึดอัด และระบายความร้อนได้ดี
  •  ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัด หรือต้องออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ควรดื่ม เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ ส่วนคนที่อยู่ในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด

ปฐมพยาบาลยังไงให้ปลอดภัย

  • หากพบผู้ป่วยให้รีบพาเข้าไปในที่ร่ม ไม่มีแดด และมีอากาศเย็นหรืออากาศถ่ายเทได้สะดวก แล้วให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าขึ้นสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
  • คลายเสื้อผ้าของผู้ป่วยให้หลวม หรือถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้เร็วขึ้น
  •  ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นแล้วเช็ดตามตัว ซอกรักแร้ คอ ขาหนีบ และหน้าผาก โดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
  •  ถ้าในบริเวณนั้นมีพัดลม ให้เปิดพัดลมเป่าผู้ป่วยเพื่อระบายความร้อน หรือใช้พัด พัดแรง ๆ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำโดยเร็วที่สุด
  •  เมื่อทำตามทุกข้อแล้วให้โทรแจ้ง 1669 หรือรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที