เปิดอาหาร “ผู้ป่วยซึมเศร้า” อะไรควรกิน-ห้ามกิน

รู้หรือไม่? อาหารที่มีคุณค่าสูงและเหมาะสมช่วยส่งผลดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้าได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดรูว์ แรมซีย์ จิตแพทย์จากคลินิกจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพจิต) อธิบายว่าอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ส่งผลให้กระบวนการรักษาโรคได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น การรับประทานในกลุ่มที่มีวิตามินบี 12 และกรดไขมันโอเมก้า 3 แบบโมเลกุลสายโซ่ยาวที่ช่วยบำรุงสมอง ก็จะช่วยลดอาการโรคซึมเศร้าได้ หากร่างกายเราขาดโอเมก้า 3 จะทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

หมอแรมซีย์เป็นผู้บุกเบิกด้านโภชนาการทางจิตเวช เขาได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสารอาหารที่มีผลต่อสมองและสุขภาพจิต ตามปกติหมอแรมซีย์จะจ่ายยาแก้ซึมเศร้าและยารักษาโรคอื่นๆ ตามความเหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมถึงการบำบัดด้วยการพูดคุย แต่เขายืนยันว่ามากไปกว่านั้น การแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารที่สดใหม่และมีคุณค่าทางโภชนาการ ก็สามารถเป็นส่วนเสริมของการบำบัดผู้ป่วยได้ด้วย

“หากผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ไม่ดี ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการของโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคซึมเศร้าถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดอุบัติเหตุและความพิการสำหรับชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 44 ปีตามรายงานขององค์การอนามัยโลก”

ด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าอย่าอายหมอ ขอให้รีบไปรักษา ทั้งนี้ ยังได้ให้ฝ่ายเชี่ยวชาญของ รพ.ไปวิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็นผลดีและผลเสียต่อโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษา เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะฟื้นฟูอยู่ที่บ้าน และขณะนี้มีการโฆษณาอาหารต่างๆ ผ่านสื่อจำนวนมาก อาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้ เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆซ้ำเติมผู้ป่วยอีก

อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพยารักษาของแพทย์มี 5 กลุ่มและเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด ได้แก่

1.กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดอาการซึมเศร้า คือ โอเมกา 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ อาทิ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น

2.ไข่ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟนและไทโรซีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

3.กลุ่มกล้วย จะมีแร่ธาตุโพแทสเซียมและมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล

4.กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย

5. กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้

ส่วนเครื่องดื่ม 2 ชนิดเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ 1.น้ำอัญชัน ในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับ และ 2.น้ำลำไย ซึ่งมีสาร 2 ชนิดคือกรดแกลลิก ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

สำหรับกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้า “ห้ามรับประทาน” เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยา มี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด ได้แก่

1.อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ร่างกายเกิดภาวะเครียด อาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

2.อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า มีสารไทรามีนสูงทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้

เครื่องดื่ม 3 ชนิด

1.ชา-กาแฟ เพราะมีคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน ทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น

2.น้ำอัดลมประเภทสีดำ มีคาเฟอีนและน้ำตาลสูง ส่วนแบบไม่มีน้ำตาลก็ต้องระวัง เพราะมีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า

3 .น้ำผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม เสาวรส น้ำองุ่น เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข