ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำโจทย์งานวิจัยการผลิตเส้นใยนาโนด้วยเทคนิคอิเล็กโทรสปินนิง หรือ การปั่นเส้นใยจากพอลิเมอร์ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ขนาดนาโนเมตรจนถึงไมโครเมตร จากสารละลายพอลิเมอร์ หรือพอลิเมอร์หลอมเหลว มาพัฒนาเป็นแผ่นกรองเส้นใยเพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้าคุณภาพใกล้เคียง N95 (Sci-Mask Filter) และมีราคาถูกกว่าท้องตลาด 2-3 เท่า
นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชัย พุทซ้อน ได้พัฒนาแผ่นกรองเส้นใยเพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้าใกล้เคียง N95 มีคุณลักษณะเด่นคือ มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับหน้ากากทางการแพทย์ โดยการผลิตเส้นใยนาโน ด้วยเทคนิคอิเล็กโทรสปินนิง ทำเป็นแผ่นกรอง “Sci-Mask Filter” จึงมีคุณสมบัติเป็น Biocompatible มีความปลอดภัยในการใช้งาน มีประสิทธิภาพในการกรองที่สูง ทั้งการกรองอนุภาคและการกรองไวรัสเทียบเท่าใกล้เคียงกับหน้ากาก N95 และที่สำคัญมีคุณสมบัติ Super hydrophobic ซึ่งจะไม่ยอมให้ละอองน้ำหรือละอองลอยสามารถซึมผ่านแผ่นกรองได้ ทีมนักวิจัยได้นำแผ่นกรอง “Sci-Mask Filter” ไปทดสอบทางวิทยาศาสตร์ พบว่า มีประสิทธิภาพการกรองสูงถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งได้ทำการทดสอบเรื่องความปลอดภัยในเซลล์ของปอด ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลพบว่าสามารถใช้งานได้ โดยได้นำไปแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นำไปใช้ในการรับผู้ป่วย COVID-19 แล้ว
ผลจากการทดสอบแผ่นกรอง “Sci-Mask Filter” ในห้องปฏิบัติการ
- มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย (ขนาด 1 micron) และไวรัส (ขนาด 0.2 micron) ที่ปนเปื้อนในละอองฝอยได้มากกว่า 99%
- เฉพาะแผ่นกรองมีประสิทธิภาพกรองฝุ่นที่ PM 2.5 ได้ถึง 91.17 %
- ส่วนประกอบที่เลือกใช้ไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์
- กันน้ำได้ 99.99%
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมลศรี มิตรภาพอาทร อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้นำแผ่นกรองเส้นใยไปทดสอบเรื่องเชื้อ กล่าวว่า “จากการทดสอบประสิทธิภาพการกรองพลานุภาพแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งได้จำลองโมเดลโดยใช้เครื่องเนบูไลเซอร์ ที่สามารถทำให้เกิดละอองฝอย โดยการผสมสารละลายเซลล์ของแบคทีเรียหรือไวรัสที่เราต้องการทดสอบเข้ากับสารละลาย แล้วนำเครื่องเนบูไลเซอร์ มาทำให้สารละลายเกิดเป็นละลองฝอย เสร็จแล้วเรานำหน้ากากผ้าที่มีแผ่นกรองอยู่ ทำให้ละอองฝอยพ่นผ่านตัวหน้ากากผ้าหรือหน้ากากผ้าที่มีแผ่นกรอง โดยด้านหลังของหน้ากากผ้าจะมีตัวอาหารเลี้ยงเชื้อ ซึ่งถ้าหน้ากากผ้าที่มีแผ่นกรองสามารถสกัดกั้นหรือกรองอนุภาคของแบคทีเรียหรือไวรัสได้ จะไม่สามารถผ่านเข้าไปตรงที่อาหารเลี้ยงเชื้อได้ ผลจากการทดลองก็มั่นใจได้ว่าแบคทีเรียหรือไวรัสไม่สามารถผ่านแผ่นกรองได้แน่นอน”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชัย พุทซ้อน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนาแผ่นกรอง “Sci-Mask Filter” นี้เพื่อใช้แบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ หรือให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดคลีคลายลง และผลงานชิ้นนี้ถือเป็นความภูมิใจของทีมนักวิจัยในนามของลูกพระบิดาที่มีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยทีมนักวิจัยมีโครงการที่จะผลิตและส่งให้กับทีมแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อไป”
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาที่ หน่วยวิจัย บัณฑิตศึกษา และบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร 0 7428 8023