หน้ากากอนามัยถือว่าปัจจัยสำคัญต่อทุกคนในปัจจุบัน จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เชื่อว่าทุกคนต้องมีหน้ากากอนามัยเป็นของตัวเองอย่างน้อยๆ 1 ชิ้น ซึ่งหากเป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้าก็สามารถซักแล้วนำมาใช้ได้ ส่วนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว จึงเข้าข่ายเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อเนื่องจากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ อาทิ การไอ จาม น้ำมูก ทำให้เกิดมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วย การทิ้ง การจัดเก็บ และการทำลาย ต้องใช้ขั้นตอนเดียวกับการจัดเก็บขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข รวมถึงหลีกเลี่ยงการสะสมและเป็นต้นตอของการแพร่เชื้ออีกด้วย
วิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกวิธี เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ลดงานให้พนักงานเก็บขยะ และให้ง่ายต่อการทำลาย
- พับหน้ากากอนามัยด้านที่สัมผัสใบหน้า เข้าข้างใน เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากน้ำลายและน้ำมูกแพร่กระจาย
- มัดให้แน่นด้วยหูหน้ากากทั้งสองด้าน
- ใส่หน้ากากที่ม้วนแล้วในซองพลาสติกที่ปิดปากถุงด้วย หรือทิ้งในถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่น
- ทิ้งในถังขยะมูลฝอยติดเชื้อ หรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังสัมผัสกับหน้ากากอนามัยใช้แล้วทุกครั้ง
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดนิยามมูลฝอยติดเชื้อ ว่าคือ มูลฝอยที่สงสัยว่าปนเปื้อนสิ่งที่ก่อให้เกิดโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต เชื้อรา ที่มีความเข้มข้นหรือปริมาณเพียงพอที่สาเหตุให้เกิดโรคได้ ซึ่งรวมถึงสิ่งของที่ปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย ที่ปนเปื้อนเสื้อผ้า ผ้าพันแผล ฟองน้ำ ถุงมือ ผ้าปิดปาก เสื้อคุม ผ้าม่าน และของใช้อื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการกำจัดเป็นกรณีพิเศษ