นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากระยะแรกของการเกิดโรคโควิด19 เป็นการนำเข้าเชื้อจากประเทศจีน จึงเน้นมาตรการค้นหาผู้ป่วยที่เป็นนักเดินทางใน 3 จุดหลัก คือ ที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ สถานพยาบาล และชุมชน รวมถึงผู้เข้าข่ายสงสัยป่วย (PUI) ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเป็นการระบาดในประเทศและพบผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ กทม. จึงปรับเป็นมาตรการเป็นการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case finding) ในพื้นที่เสี่ยงที่พบรายงานผู้ป่วย
มาตรการการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด19 ได้ดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) จากผู้สงสัย ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ ผู้อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย ทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาแยกกัก ตัดวงจนการแพร่ระบาด การเพิ่มการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน ในกลุ่มที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่ กทม. ได้ทำการตรวจไปกว่า 3 พันรายพบติดเชื้อเพียง 1 ราย ในส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบประปรายในอัตราต่ำกว่า 1% เว้นเพียงบางพื้นที่
ดังนั้นมาตรการล่าสุดที่จะดำเนินการจากนี้คือ มาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ค้นให้เจอผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการและแยกออก โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้กำหนดประชากรกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง ทำแผนและดำเนินการ ซึ่งจะขยายการตรวจทางห้องปฏิบัติการไปยัง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าตรวจให้ได้อีก 170,000 ตัวอย่าง ภายใน 1-2 เดือน โดยสัปดาห์หน้าจะกระจายวัสดุสนับสนุนไปทุกจังหวัดและจะเร่งรัดเพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกให้ครอบคลุมเพื่อให้สอดคล้องกับการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมในระยะถัดไป
กลุ่มประชากรเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการใดเลย ได้แก่
- กลุ่มที่ทำงานพบปะคนจำนวนมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง คนขับ หรือพนักงานขับรถประจำรถสาธารณะ กลุ่มแรงงาน/แรงงานต่างด้าวที่อยู่รวมกันกลุ่มแรงงานที่อยู่รวมกัน และอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ
- สถานที่เสี่ยงที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก ได้แก่ ชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้า
ซึ่งการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case finding) ในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงทั่วประเทศ จะสามารถสร้างความมั่นใจในการควบคุมป้องกันโรค สำหรับดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรน และให้เป็นแนวทางให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังต่อไป