เมื่อ COVID-19 ทำให้เราได้ “เรียนรู้” และ “ปรับเปลี่ยน”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (โควิด-19) ทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก มีการปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สนามบินเงียบเหงา สถานที่ท่องเที่ยวแทบร้างผู้คน หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนต้องลดพนักงาน เลิกจ้าง หรือปิดตัวเองลง ผู้คนไม่จำเป็นก็ไม่ออกนอกบ้าน ไม่กล้าอยู่ในที่คนพลุกพล่าน และคอยติดตามข่าวสารเพื่ออัพเดทการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้  ซึ่งข้อมูลที่ได้รับนั้นก็มีทั้งจริงและปลอมปะปนกัน หรือบางข้อมูลที่เราเคยยึดถือเป็นแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อ ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ขึ้น เช่นการใช้ช้อนกลางตักอาหารก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสช้อนร่วมกันได้ ต้องเปลี่ยนมากินร้อน ช้อนใครช้อนมัน และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

แต่หากมองในแง่ดี การระบาดในวงกว้างของ COVID-19 ก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ มากขึ้น รวมถึงในภาครัฐ และภาคธุรกิจ ก็ตระหนักถึงการต้องปรับเปลี่ยน และปรับตัว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงรุก เพื่อลดความเสี่ยงในการการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ในอนาคตมากขึ้นด้วย เช่น ประเทศไต้หวันที่แม้จะอยู่ใกล้กับประเทศจีน มีพลเมืองหลายล้านคนทำงานในจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนก็เดินทางมาไต้หวันเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วย COVID-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับกลายเป็นว่า ไต้หวันมีการแพร่ระบาดน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก นั่นเพราะตั้งแต่เมื่อครั้งมีการระบาดของโรคซาร์ส รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพแห่งชาติ (NHCC) ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์จัดการภัยพิบัติที่มุ่งเน้นการตอบสนองในเชิงรุกต่อการเกิดโรคระบาดขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ โดยใช้ฐานข้อมูลประกันสุขภาพของประเทศ รวมเข้ากับฐานข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เพื่อสร้าง Big Data ในการวิเคราะห์ แจ้งเตือน และป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไต้หวันจึงรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว

COVID-19 แม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงถึงขั้นที่เป็นแล้วเสียชีวิตทุกคนก็ตาม แต่ก็แพร่กระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความหวาดระแวงไปทั่ว หลายอย่างชะลอตัว ไปจนถึงขั้นหยุดชะงัก แต่ในทางกลับกันก็กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นทางเลือกสู่ทางรอดมากขึ้น เช่น

  • หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานจะถูกปฏิเสธจากผู้บริโภคมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีความรู้ในเลือกซื้อและเลือกใช้ดีขึ้น
  • บริษัทผลิตชุดบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มหันมาทำหน้ากากผ้าแบบซักได้เพื่อใช้แทนหน้ากากอนามัย โดยผลิตจากเส้นใยผ้าต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและฝุ่น PM2.5 สามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ป้องกันเชื้อไวรัสได้ด้วย
  • ก๊อกน้ำ หรือลูกบิดประตู จะถูกคิดเพื่อลดการสัมผัสให้มากที่สุด เช่นเป็นแบบโยกเปิดปิดที่สามาถใช้ข้อศอกหรือวัสดุอื่นในการสัมผัสแทนมือได้ หรือทำเป็นระบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติมากขึ้น
  • ระบบชำระเงินออนไลน์จะเป็นตัวเลือกในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคเองก็เริ่มกังวลในการสัมผัสธนบัตร หรือเงินเหรียญ ซึ่งอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย
  • ประกันภัยต่างๆ ที่ออกมาจะทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องเดินทางเพื่อออกไปซื้อ
  • บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติจะถูกใช้เป็นทางเลือกในการใช้แล้วทิ้งมากขึ้น ทั้งช่องทางเดลิเวอรี่ และการสั่งอาหารจากร้านค้า เพื่อลดการปนเปื้อนจากการสัมผัสภาชนะที่ลูกค้านำมาเอง และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทาง
  • วัตถุดิบบางอย่างอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มเติม การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงสินค้าและวัตถุดิบจากแหล่งที่หลากหลายได้มากขึ้น

ในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ขอให้รับมือกับมันอย่างมีสติ โรคระบาดทำให้เราหวาดกลัว แต่ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองมากขึ้น โรคระบาดทำให้หลายธุรกิจหยุดชะงัก แต่อาจเป็นโอกาสในการกลับมาตั้งหลัก เพื่อเตรียมก้าวเดิน หรือก้าวกระโดดไปให้ไกลกว่าเดิม อย่าท้อแท้ แต่ให้มองหาโอกาสที่เป็นทางเลือกสู่ทางรอดในยามวิกฤตของเราให้เจอ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.scb.co.th