ตึกเป็นพิษ!! ภัยร้ายของคนเมือง

(SBS) Sick building syndrome หรือ โรคตึกเป็นพิษ เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร และการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ และหายใจไม่สะดวก โดยเมื่อผู้ป่วยออกจากตัวอาคารอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น

“ ประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด ”

โดยมลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้จากทั้งที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งใหม่ มีการใช้สีทาผนังซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ มีความชื้น รอยรั่วซึม ซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ และเมื่อเอาตัวเองออกมาข้างนอกจะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อื่น อาจมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้น แต่ถึงคนๆ นั้นจะไม่ได้เป็นโรค ครอบครัวไม่ได้มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงทุกวันก็จะกลายเป็นผู้ป่วยได้ในที่สุด

 “ เราต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เช่น ทำไมเดินเข้าอาคารนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี อยู่นานๆ แล้วรู้สึกเวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก คันผิวหนัง อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค ”

เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะ SBS ได้อย่างชัดเจน การป้องกันตนเองจากภาวะนี้จึงทำได้ค่อนข้างยาก ในเบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยไปพบแพทย์เพื่อรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือทำให้อาการของภาวะ SBS แย่ลง รวมถึงไม่อยู่ในอาคารนานจนเกินไป และปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น เป็นต้น
  • ดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานให้ปราศจากเชื้อโรคและฝุ่น
  • ลดความเครียดโดยพักสายตาระหว่างทำงาน หรือเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงพักเที่ยง
  • หมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ มีความชื้น เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคหลายสายพันธุ์ และแพร่เชื้อ ผ่านทางอากาศ