เสียงสัมภาษณ์เรื่อง “การดมยาในเด็ก” ไม่อันตรายอย่างที่คิด โดยแพทย์หญิงสิรินภรณ์ เตชาปิยะพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในรายการสภากาแฟสภาสุขภาพ
การผ่าตัดในเด็กโดยทั่วไปจำเป็นต้องได้รับยาสลบ ยาสลบเป็นยาที่ทำให้เด็กหมดความรู้สึก ซึ่งเป็นการหลับอีกรูปแบบหนึ่งทำให้เด็กไม่เจ็บและไม่รู้สึกตัวขณะผ่าตัด โดยไม่ต้องกลัวเพาะไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เพียงแต่ต้องงดน้ำและอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เท่านั้น เด็กๆสามารถนำสิ่งของที่เด็กชอบมาโรงพยาบาลได้ เช่น ของเล่น หนังสือการ์ตูน สมุดภาพระบายสี หรือของส่วนตัว ในขั้นตอนก่อนการดมยา คุณหมอดมยาจะอธิบายถึงขั้นตอนของการให้ยาสลบให้เด็กและผู้ปกครองทราบ
การสลบคืออะไร?
การสลบ คือ การหลับรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการนอนหลับธรรมดา เพราะเป็นการนอนหลับโดยคุณหมอดมยา จะให้ยาสลบ ผู้ปกครองสามารถเข้ามากล่อมให้หลับได้ถ้าต้องการ คุณหมอดมยาและพยาบาลจะดูแลอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องวัดความดันเลือด เครื่องวัดระดับออกซิเจน
ยาสลบ คือ ยาที่ถูกใช้เพื่อทำให้ผู้ป่วยหมดสติ เอื้อประโยชน์ต่อขั้นตอนการรักษา อย่างการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก หรืออาจกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีวิสัญญีแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ยาชาและการวางยาสลบ เป็นผู้วางยาสลบด้วยการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือด หรือให้ผู้ป่วยดมยาในรูปแบบก๊าซ ผู้ป่วยจะรู้สึกง่วงนอน และหมดสติไปในที่สุด โดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างทำการรักษา
เด็กโตที่ได้รับการผ่าตัดด้วยโรคที่ไม่รุนแรง จะไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยา แต่ถ้าเป็นเด็กเกิดก่อนกำหนดมีโรคหัวใจหรือพิการมาแต่กำเนิด ความเสี่ยงจากการดมยาอาจจะมากขึ้น
แพทย์หญิงสิรินภรณ์ เตชาปิยะพร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิสัญญีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การพักฟื้นจากฤทธิ์ของยาสลบ
- เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะหยุดให้ยาสลบ ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปยังห้องพักฟื้นเพื่อเฝ้าดูอาการต่อไป โดยผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นช่วงสั้น ๆ หรือเป็นระยะเวลานานหลายวัน ขึ้นอยู่กับสภาพอาการและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เมื่อหยุดให้ยาสลบ ผู้ป่วยอาจรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในห้องผ่าตัดหลังผ่าตัดเสร็จ หรือรู้สึกตัวในห้องพักฟื้นด้วยอาการสะลึมสะลือ อ่อนเพลีย ท้องไส้แปรปรวน หรืออาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ จนกว่ายาสลบจะหมดฤทธิ์ ในระหว่างนี้พยาบาลจะคอยดูแลอาการ และให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- ยาสลบอาจส่งผลกระทบต่อความจำ สมาธิ และปฏิกิริยาตอบสนองต่าง ๆ ของผู้ป่วยชั่วคราวภายใน 1-2 วัน ดังนั้น ผู้ป่วยควรมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรืออาการเจ็บป่วยที่เป็นอันตราย
- ในขณะพักฟื้นรักษาตัว ผู้ป่วยต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เมื่อแพทย์มีความเห็นให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาล และสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ คือ รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซักถามเมื่อมีข้อสงสัย และสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่รุนแรงแล้วปรึกษาหรือกลับมาพบแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำสัญญานิติกรรมใด ๆ เป็นเวลา 1-2 วัน หลังการผ่าตัด
ผลข้างเคียงจากยาสลบ
- หลังยาสลบเริ่มหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกตัวและรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด
- รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกสับสนมึนงง หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราว แต่มีผู้ป่วยบางรายที่จะสูญเสียความทรงจำไปอย่างถาวร ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
- รู้สึกป่วย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับยาสลบ แต่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเป็นวันได้
- ตัวสั่น หรือรู้สึกหนาวสั่น อาจเกิดขึ้นชั่วขณะ ยาวนานหลายนาที ไปจนหลายชั่วโมง
- เกิดรอยช้ำและความเจ็บปวดบริเวณที่ถูกฉีดยา หากไม่มีอาการแพ้หรืออาการข้างเคียงอื่นใดที่เป็นอันตราย รอยช้ำและความเจ็บปวดนี้จะหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
- เสียงแหบ คอแห้ง เจ็บคอ เนื่องจากระหว่างผ่าตัดอาจมีการสอดท่อช่วยหายใจผ่านทางปากเข้าไปในลำคอ
- ปากแห้ง หรือเกิดความเสียหายภายในช่องปากและฟัน เนื่องจากการสอดท่อช่วยหายใจในระหว่างทำการผ่าตัดเช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีแผล หรือกำลังรักษาช่องปากและฟัน ควรแจ้งให้วิสัญญีทราบเรื่องก่อนเสมอ
- ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีความยากลำบากในการปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อนของยาสลบ
แม้การใช้ยาสลบจะมีผลข้างเคียง แต่มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่จะเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้ โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ
- ภาวะสับสนทางจิตใจ โดยอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
- เกิดการบาดเจ็บที่ฟันหรือลิ้นจากการกระทบกระเทือนของท่อช่วยหายใจ
- เกิดความเสียหายบริเวณเส้นเสียงที่อยู่ภายในลำคอจากการใช้ท่อช่วยหายใจเช่นกัน ทำให้เกิดอาการเสียงแหบ และเจ็บคอ
- รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในระหว่างแพทย์กำลังทำการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะวิสัญญีแพทย์จะคอยดูแลให้ยาสลบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ยาสลบอย่างรุนแรง เช่น มีผื่น ตัวบวมหน้าบวม หอบ ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน