เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีรายงานการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโรค COVID-19 คนแรกของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นำมาร่วมใช้ ในการรักษาผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นและสามารถถอดท่อช่วยหายใจออกได้
เพราะชีวิตนั้นมหัศจรรย์ ยิ่งเราได้ช่วยเหลือกันยิ่งเพิ่มคุณค่าของชีวิตอีกมากมาย
“เป็นความโชคดีที่ผู้บริจาคพลาสมาท่านนี้สามารถบริจาคพลาสมาได้ 600 ซีซี ซึ่งจะให้ผู้ป่วยที่ต้องการพลาสมาโดยประมาณ 200 ซีซี/ครั้ง ซึ่งการรักษาครั้งนี้สามารถแบ่งพลาสมาได้ 3 โดส ทำการรักษาผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอาการรุนแรง เดิมให้การรักษาจากยาที่เป็นมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข แต่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นจึงพิจารณาการให้พลาสมา ซึ่งผลที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง อาการดีขึ้นตามลำดับ”
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
โดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้นำพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโรค COVID-19 คนแรกของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มาร่วมใช้ในการรักษาผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากภาพเอกซเรย์ปอดที่ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้เพยแพร่ เป็นการเปรียบเทียบปอดของผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงก่อนและหลังได้รับพลาสมา จะเห็นได้ว่าภาพก่อนได้รับพลาสมา บริเวณปอดได้รับความเสียหายมาก แต่หลังจากได้รับการรักษาด้วยพลาสมาในภาพเอกซเรย์ปอด จะเห็นพื้นที่ปอดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า พลาสมาของผู้ที่หายจากโรค COVID-19 จะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเปรียบเสมือนเป็นเซรุ่มใช้รักษาโรคได้ ดังนั้น มาตรการในการรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 อีกทางหนึ่ง ที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายแล้ว รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยภูมิต้านทานต่อไวรัส COVID-19 ที่ร่างกายสร้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นสูงหลังสัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ 4 จะช่วยยับยั้งไวรัส COVID-19 ไม่ให้เข้าไปทำลายเซลล์ปอดจนทำให้ปอดอักเสบรุนแรง และแพร่กระจายสร้างความเสียหายไปทั่วร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น
จากผลการศึกษาการใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยในเมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่ามีรายงานผลการรักษาที่ชัดเจนว่า พลาสมาของผู้ป่วยที่หายดีแล้วสามารถนำมารักษาผู้ป่วยและให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ก็อนุญาตให้ใช้พลาสมาของผู้ป่วย COVID-19 ที่หายแล้ว มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้
สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคพลาสมาสามารถบริจาคได้ที่หน่วยคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ปฏิบัติตามขั้นตอนการบริจาคเลือดทั่วไป ทำการตรวจผู้บริจาคเลือดว่าไม่มีการติดเชื้อที่จะส่งผลต่อผู้รับบริจาค เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบ B หรือ C
2. การตรวจว่าผู้บริจาครายนั้นหายจากโรคโควิด-19 อย่างน้อย 14 วัน มีภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงขึ้นในการรักษาผู้ป่วยที่จะรับการบริจาคพลาสมา
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 074 451574
ขอบคุณข้อมูลภาพเพิ่มเติม : thematter