วิธีรดน้ำต้นไม้แบบเกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ทำร้ายต้นไม้ มีดังนี้
1. ต้นไม้แต่ละพันธุ์ชอบน้ำไม่เท่ากัน
ก่อนจะลงมือรดน้ำ เราควรรู้ก่อนว่าต้นไม้แต่ละต้นชอบน้ำมากน้อยแค่ไหน ต้นไม้พวกกระบองเพชรหรือไม้อวบน้ำซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทะเลทราย ไม่ได้ชอบน้ำเหมือนไม้ใบที่เติบโตในที่ชื้นแฉะ ถ้าเรารดน้ำกระบองเพชรชุ่มฉ่ำเหมือนต้นไม้ทั่วไป ลำต้นก็อาจจะบวมน้ำ เน่า และตายคาที่ได้ สิ่งที่ควรระวังคือ กระบองเพชรเป็นต้นไม้ที่เก็บอาการได้ดี ไม่ว่าจะได้รับน้ำมากหรือน้อยเกินไป ก็ไม่ค่อยแสดงอาการ กว่าจะออกอาการก็เกินเยียวยาแล้ว
2. รดน้ำตอนเช้าหรือตอนเย็น
มีการถกเถียงกันมากว่าควรรดน้ำตอนเช้าหรือตอนเย็น คำตอบที่คนพูดกันบ่อยๆ คือ รดตามสะดวก แต่ถ้าจะว่ากันตามทฤษฎี เราควรรดตอนเช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 06.00 – 08.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ต้นไม้เริ่มสังเคราะห์แสง เป็นช่วงเวลานานพอที่น้ำจะไม่ขังในดินจนรากเน่า ถ้ารดโดนใบก็จะระเหยไม่ค้างอยู่บนใบจนใบเน่า ช่วงเวลาเที่ยงและบ่ายนั้นถือว่าร้อนเกินไปสำหรับต้นไม้และคนรด แต่ถ้าเป็นต้นไม้ที่อยู่ในห้อง รดช่วงที่โดนแสงอาทิตย์ก็จะดีกว่าตอนมืด เพราะต้นไม้ไม่ต้องใช้น้ำเพื่อสังเคราะห์แสงแล้ว
3. รดน้ำตอนกลางคืนก็ได้
หลายคนรดน้ำต้นไม้ตอนกลางคืน เพราะตอนเช้าต้องรีบออกไปทำงาน สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ การรดน้ำตอนกลางคืนไม่เป็นประโยชน์กับต้นไม้นัก เพราะมันจะใช้น้ำนั้นในช่วงเช้า ถ้ารดมากไปก็อาจทำให้ดินชื้นจนรากเน่าได้ นอกจากนี้ การรดน้ำยังเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้สังเกตอาการต่างๆ ของต้นไม้ ถ้ารดน้ำต้นไม้ที่ปลูกกลางแจ้งตอนกลางคืน ก็อาจจะมืดจนเราไม่สังเกตเห็นอาการที่ผิดปกติของพืช
4. รดน้ำต้องดูแสง
ปริมาณน้ำที่รดควรจะสัมพันธ์กับปริมาณแสงที่ต้นไม้ได้รับ ถ้าต้นไม้ได้รับแสงเยอะ น้ำระเหยเร็ว ควรรดมาก แต่ถ้าต้นไม้อยู่ในที่ร่ม ไม่โดนแสงส่องโดยตรง ก็ควรรดน้ำน้อย การย้ายต้นไม้ที่เคยปลูกกลางแดดมาไว้ในร่มหรือแดดรำไร ถ้ารดเท่าเดิมก็อาจจะช็อกน้ำตายได้ ต้องค่อยๆ ลดปริมาณน้ำลง เพื่อให้เขาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่
5. ความชื้นในอากาศก็มีผล
นอกจากแสงแดดแล้ว ความชื้นในอากาศก็มีผลกับปริมาณน้ำที่จะรด ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศน้อย น้ำระเหยเร็ว (ตากผ้าก็แห้งเร็ว) รดน้ำได้เยอะ เพราะเดี๋ยวก็ระเหยหมด แต่ถ้าเป็นหน้าฝนที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมาก (ผ้าที่เราตากก็แห้งช้า) ก็ไม่ควรรดน้ำมาก เพราะน้ำจะระเหยยาก
6. ต้นไม้ในห้องตายเพราะเน่ามากกว่าแห้ง
คนทั่วไปคิดว่า ต้นไม้จะตายเพราะขาดน้ำ เลยรดน้ำให้แฉะไว้ก่อน นั่นเลยทำให้ต้นไม้ที่ปลูกในห้องส่วนใหญ่ตายเพราะรากเน่า เมื่อเรารดน้ำมากไป น้ำที่ขังในกระถางจะทำให้วัสดุปลูกขึ้นรา ทางแก้คือเอาส่วนที่ขึ้นราออก แล้วเติมวัสดุปลูกลงไปใหม่ ถ้าอาการหนักถึงรากเน่า ก็ต้องขุดเอาทั้งต้นทั้งรากมาผึ่งให้แห้ง โละวัสดุปลูกเดิมทิ้ง แล้วปรุงดินใหม่
7. เช็กด้วยนิ้ว
ยากจะบอกว่าเราควรรดน้ำต้นไม้บ่อยแค่ไหน เช่น สัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเยอะเหลือเกิน อย่างที่เราได้เล่ามา ไม่ว่าจะเป็นชนิดของต้นไม้ แสงที่ต้นไม้ได้รับ ความชื้นในอากาศ หรือปริมาณน้ำที่รด ดังนั้น หลักในการรดน้ำต้นไม้ปลูกในร่มที่ง่ายที่สุดคือ รดเมื่อดินแห้ง วิธีตรวจสอบก็ง่ายดาย แค่เอานิ้วแตะดิน ถ้าแห้งก็แสดงว่าได้เวลารดน้ำแล้ว
8. รดน้ำตรงไหนของต้น
จุดที่ควรรดน้ำที่สุดคือโคนไปจนถึงราก จุดที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือดอกและใบ เพราะจะทำให้ดอกร่วง และอาจทำให้ใบเน่าได้ (ถ้าน้ำไม่ระเหย) แต่ข้อดีของการรดน้ำที่ใบก็คือ ช่วยล้างฝุ่นออกจากใบ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้สังเคราะห์แสงดีขึ้น วิธีการที่แนะนำคือพ่นน้ำจากขวดสเปรย์ให้กระจายใส่ใบ วิธีล้างฝุ่นจากใบอีกวิธีคือเอาผ้าชุบน้ำมาเช็ด เราก็จะได้ต้นไม้ที่มีใบสีเขียวสดสวยงามด้วย
9. ควรใช้บัวรดน้ำแบบปากเรียวเล็ก
บัวรดน้ำมีหลายแบบและหลายขนาด สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในห้อง บัวรดน้ำที่เหมาะที่สุดคือแบบปากเรียวเล็ก มีทั้งคอสั้นตรงและคอโค้งยาว เพราะควบคุมทิศทางการไหลของน้ำให้ลงกระถางได้ง่าย เข้าถึงได้ทุกซอกของกระถาง ส่วนกระบอกฉีดน้ำแบบหัวสเปรย์ เหมาะกับกระถางขนาดเล็กหรือต้นไม้ที่ชอบน้ำน้อย
10. จานรองมีอะไรดีมากว่าความสวย
จานรองกระถางต้นไม้ไม่ได้มีหน้าที่แค่รองน้ำไม่ให้ไหลเลอะเทอะหรือเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยกักเก็บน้ำให้ต้นไม้ดูดกลับไปใช้ผ่านวัสดุปลูกด้วย ระหว่างวัสดุปลูกกับจานรองควรใส่หิน หินภูเขาไฟ โฟม อิฐมอญ หรืออุปกรณ์ที่ไม่อุ้มน้ำ เพื่อไม่ให้ดินโดนน้ำในจานรองโดยตรงจนชื้นเกินไป นอกจากนี้ไม่ควรใช้จานรองที่เล็กกว่ากระถาง เพราะจะทำให้น้ำไหลล้นเลอะเทอะทุกครั้งที่รดน้ำ
ขอบคุณข้อมูล: readthecloud