“บริจาคอวัยวะ” สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ

การปลูกถ่ายอวัยวะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่การรับรู้เรื่องการบริจาคอวัยวะ ยังไม่กว้างขวาง และยังมีความเชื่อที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอยู่มาก นี่คือข้อมูลที่จะช่วยให้คุณเข้าใจและตัดสินใจได้อย่างสบายใจมากขึ้น

บริจาคอวัยวะแก่เพื่อนมนุษย์
คือ ที่สุดแห่งการให้

ว.วชิรเมธี

บริจาคอวัยวะ (Organ Donation) คือ การบริจาคอวัยวะที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเพื่อนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างจากการบริจาคร่างกาย โดยสิ้นเชิง เพราะการบริจาคร่างกายใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น และไม่สามารถบริจาคทั้ง 2 อย่างได้

การบริจาคอวัยวะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริจาค โดยในประเทศไทยสามารถแจ้งความจำนงในการบริจาคอวัยวะได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เว้นแต่การบริจาคดวงตาที่ต้องบริจาคที่ธนาคารดวงตาสภากาชาดไทย ปัจจุบันอวัยวะที่สามารถบริจาคได้ได้แก่

  • หัวใจ และลิ้นหัวใจ
  • ปอด
  • ตับ
  • ไต
  • ดวงตา

ทั้งนี้ อวัยวะของผู้บริจาคจะนำออกจากร่างกายได้ก็ต่อเมื่อผู้บริจาคได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในภาวะสมองตาย หากเป็นดวงตา สามารถผ่าตัดนำออกมาจากร่างกายหลังผู้บริจาคเสียชีวิต แต่ในบางกรณีก็สามารถผ่าตัดนำอวัยวะไปปลูกถ่ายได้โดยที่ผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพปกติ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยและอนุญาตจากแพทย์ว่าปลอดภัย ไม่ส่งผลร้ายแก่ผู้บริจาคในภายหลัง

ใครสามารถบริจาคอวัยวะได้บ้าง ?

เนื่องจากอวัยวะที่บริจาคต้องมีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด และต้องเข้ากับผู้รอรับบริจาคได้โดยไม่เกิดการติดเชื้อไวรัสที่อันตรายในภายหลัง จึงทำให้กฎเกณฑ์ในการบริจาคอวัยวะมีมากกว่าการบริจาคร่างกาย คุณสมบัติของผู้ที่จะบริจาควัยวะได้ มีดังนี้

  • ผู้บริจาคต้องมีอายุต่ำกว่า 60 ปี
  • ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
  • ผู้บริจาคต้องไม่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อหรือมะเร็งชนิดต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยต้องไม่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หรือพิษสุราเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยต้องไม่ป่วยด้วยโรคที่สามารถติดต่อผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะได้ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือโรคเอดส์ เป็นต้น
  • อวัยวะที่บริจาคต้องทำงานได้อย่างสมบูรณ์
  • เมื่อแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะแล้วควรแจ้งสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย