ภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol Withdrawal)

ผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา หากมีอาการมือสั่น อาเจียน หัวใจเต้น เร็ว  กระวนกระวาย  สับสน  ชัก หมดสติ หลังจากหยุดดื่มสุรากะทันหัน เสี่ยงเกิดภาวะถอนพิษสุรา อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ญาติและผู้ใกล้ชิดควรรีบพาส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน

“การดื่มสุราเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในร่างกาย เกือบ 200 โรค ผู้ที่ต้องการเลิกสุรา แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา ไม่ควรหยุดดื่มกระทันหัน เสี่ยงเกิดภาวะถอนพิษสุรา อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้”

กรมควบคุมโรค ได้แนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา หากอาการของภาวะถอนพิษสุราอาจเกิดได้หลายรูปแบบขึ้นกับแต่ละบุคคล และมักเริ่มเกิดหลังจากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้ว 6-48 ชั่วโมง โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะถอนพิษสุรา ได้แก่ ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ มีประวัติเป็นภาวะถอนพิษสุรามาก่อน และมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง อาการระยะเริ่มต้นของภาวะนี้ที่พบได้บ่อย ประกอบด้วย ปวดหัว มือสั่น  เหงื่อออก กระวนกระวาย วิตกกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาด้านการนอนหลับ คลื่นไส้และอาเจียน ไวต่อแสงและเสียงมากขึ้น สับสน ไม่มีสมาธิ หรือไม่สามารถคิดเรื่องราวต่างๆ ได้ชัดเจน เบื่ออาหาร มือเย็น และชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา ควรค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลง เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยุดดื่มกะทันหัน และควรมีการประเมินความเสี่ยงภาวะถอนพิษสุรา สังเกตอาการของตนเอง รับประทานอาหารให้อิ่ม พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดการอยากดื่มสุรา 

ทั้งนี้ ขอให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา หมั่นสังเกตอาการของตนเองว่ามีความเสี่ยงจะเกิดภาวะถอนพิษสุราหรือไม่? ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาเป็นประจำ หรือสอบถามที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน 

ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ขอบคุณข้อมูล : กรมควบคุมโรค