“กรดไหลย้อน” รู้ก่อน รักษาหายได้

อาการแสบร้อนกลางอก หลังรับประทานอาหารมื้อหนัก มีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ท้องอืด แน่นท้อง เจ็บหน้าอก คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่? นี่คืออาการเบื้องต้นของ “กรดไหลย้อน” ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรืออาการขย้อนจนรบกวนชีวิตประจำวันได้

“ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนจะรู้สึกจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณอกบ่อยครั้ง มีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไปจนถึงกลืนอาหารได้ลำบาก ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง รู้สึกระคายเคืองคอตลอดเวลา เสียงแหบแห้ง หรือฟันผุ”

สาเหตุโรคกรดไหลย้อน

  • ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
  • ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่สามารถก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

  • โรคอ้วน คนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงกว่าคนปกติทั่วไป ส่งผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติ
  • การตั้งครรภ์ ครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่ออาการกรดไหลย้อนได้สูง
  • การสูบบุหรี่ เป็นผลให้น้ำลายน้อยลง เกิดการยั้บยั้งกรดที่ช่วยย่อยอาหารทำให้อาการไม่ย่อย เกิดการท้องอืดท้องเฟ้อตามมา กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง มีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย
  • ความเครียด ส่งผลให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน
  • การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ทำให้หูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารคลายตัว เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปปเปอร์มินต์
  • การรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหูรูด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีความเป็นกรดสูง น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ พริกไทย
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคลายกังวล ยาปฏิชีวินะบางตัว ยาแอสไพริน ยาลดความดันโลหิตบางตัว ยาขยายหลอดลม ยาเคมีบำบัด

ถึงแม้โรคกรดไหลย้อนไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เกิดความทรมาน รบกวนการใช้ชีวิตในประจำวัน และทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้

การลดปริมาณกรดในกระเพาะและป้องการไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นวิธีที่ตรงจุดที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ ดูแลตนเองอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกวิธีก็จะช่วยให้ห่างไกลจากกรดไหลย้อน และลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคกรดไหลย้อนได้

ขอบคุณข้อมูล : พบแพทย์, HDสุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่

ขอบคุณภาพประกอบ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, mgronline