ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ม.อ. สำรวจพบนักดื่มน้อยลงในช่วงมีมาตรการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมแนะหยุดดื่ม ลดเสี่ยงโควิด-19

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ได้ทำการสำรวจประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ทุกกลุ่มอายุ อาชีพ ระดับการศึกษา และที่อยู่ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล ที่เป็นตัวแทนของประชากรไทย เก็บข้อมูลในวันที่ 18 – 19 เมษายน 2563 พบว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา นักดื่มสุราเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.5) ไม่ได้ดื่มเลย ร้อยละ 33.0 ดื่มน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 18.2 ดื่มเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 0.3 ที่ดื่มบ่อยขึ้น

“โดยเหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้หยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง คือ หาซื้อไม่ได้/ ซื้อยาก กลัวเสี่ยงติดเชื้อ รายได้น้อยลง/ ไม่มีเงินซื้อ และต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง”

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หากสอบถามถึงความเดือดร้อนในช่วงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าตัวอย่างประมาณร้อยละ 90.5 ระบุไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ มีเพียงร้อยละ 5.9 เดือดร้อนจากการไม่ได้ดื่มสังสรรค์ ร้อยละ 3.6 เสียรายได้จากการขาย หรือเสียรายได้จากการปิดร้านอาหาร/ สถานบันเทิง และมีร้อยละ 0.3 หรือ 5 รายจากตัวอย่างทั้งหมดที่มีอาการถอนพิษเหล้า

“การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และร้อยละ 77.6 ทราบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และอาจป่วยรุนแรง”

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้อาจมีส่วนดีในการช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง ที่สำคัญอันหนึ่งของคนไทยลง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเดือดร้อน จากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ รวมทั้งประชาชนจำนวนมาก มีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการติดเชื้อโควิด-19