เสียงสัมภาษณ์เรื่อง “คดีล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ” โดยอาจารย์สถาพร เกียรติอนันต์ชัย อดีตอัยการจังหวัดสงขลา ในรายการรู้กฎหมายง่ายนิดเดียว
“คดีล้มละลาย” คือ คดีที่เกิดจากการที่บุคคลมีหนี้สินมากเสียจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเพื่อหาวิธีการที่ทำให้บุคคลดังกล่าวหลุดพ้นจากหนี้นั้น วัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายจึงมีอยู่สองประการ โดยประการแรก คือ การทำให้เจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของลูกหนี้ และประการที่สอง คือ การทำให้ลูกหนี้ที่สุจริตได้รับโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงตามคำฟ้องหรือไม่ หากว่าจริง ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดคือการที่ศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
“กล่าวคือ ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคดีล้มละลาย แต่ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที ศาลจะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เพื่อให้ดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้เพื่อจัดสรรให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ต่อไป”
ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2562 มีสถิติการบังคับคดีล้มละลายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนรวม 5,123 สำนวน (หนังสือรายงานสถิติคดีศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2559 และ 2560)
ฟื้นฟูกิจการคืออะไร?
การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นกระบวนการทางศาล โดยผู้ร้องขอต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลต่างหากจากคดีแพ่ง หรือคดีล้มละลายธรรมดา เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเงินของลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาบริหารกิจการได้อีกครั้งและเป็นการเริ่มต้นใหม่โดยปราศจากหนี้สินทั้งปวง
จุดประสงค์ของการฟื้นฟูกิจการคืออะไร?
การฟื้นฟูกิจการมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ และเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้มากกว่าที่จะให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ข้อดีเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการคืออะไร?
- ลูกหนี้สามารถหลุดพ้นจากหนี้ และผูกพันตามแผนฟื้นฟูกิจการแทน
- กรณีอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด กฎหมายกำหนดให้เป็นช่วงพักชำระหนี้ ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคล
- ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง
- ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย
- ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้
- ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้แก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
- ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ และเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกให้ฟื้นฟูกิจการ มีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ทั้งปวง
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วมีผลดังนี้
- ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่ป็นลูกหนั้
- ห้ามนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
- ห้ามธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการ ประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ
- ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย
- ห้ามเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิด หรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
- ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
- ห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน 8.ห้ามมิให้เจ้าหนี้ที่บังคับชำระหนี้ได้บังคับได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้