กฎหมาย 4.0 : กฎหมายกับขนส่งระบบราง

สมมติว่ามันมีความเสียหายเกิดขึ้นจากระบบรางเก่าก็คือรถไฟที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือว่าในอนาคต เนื่องจากว่าตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายออกมาเราก็เลยบอกว่าโอเคถ้ามีกฎหมายตัวนี้ออกมาเราก็ยังกังวลเนื่องจากว่าสมมติมันมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยตอนนี้ตัวข้อบัญญัติ ข้อบังคับแล้วก็กฎหมายมันทับซ้อนกันอยู่แล้วมีองค์กรที่เข้ามารับผิดชอบหลายส่วน ดังนั้นอาจารย์เห็นว่ามันน่าจะมีส่วนกลางหรือว่าอะไรที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเป็นแนวทางเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติและสามารถเชื่อมโยงกับข้อกำหนดข้อบังคับของตัวเองให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในวงกว้าง จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือ ระบบการสื่อสาร ระบบการเงิน และระบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนโอกาสทางการค้าและเพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมถึงเพื่อกระจายโอกาสและความเจริญให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจในระดับสากล

จากยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศไทย (พ.ศ. 2557 – 2559) ได้กล่าวถึง “การพัฒนาระบบขนส่งทางราง” ไว้โดยหลักๆ 2 ประเภท ได้แก่ (1) ระบบขนส่งทางรถไฟซึ่งจะพัฒนาเป็นทางคู่ (Double track) เป็นสำคัญ และ (2) รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะดำเนินการเป็นเครือข่ายการขนส่งมวลชนเป็นสำคัญ โดยมีประเด็นท้าทายในเรื่องความคุ้มค่าต่อการลงทุน และความยั่งยืนของระบบรางในอนาคต

ในประเด็นข้างต้นอาจใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้มีการลงทุนพัฒนาการขนส่งระบบรางไปก่อนหน้าประเทศไทยจนสามารถดำเนินการอย่างยั่งยืนด้วยตนเอง จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทยในการดำเนินรอยตามทั้งในเชิงนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ ความเหมาะสมทางสังคมศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมายให้ตอบโจทย์กับการใช้งานระบบราง

ตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ที่มีเพื่อจัดทำมาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่พัฒนาขึ้นสำหรับนำไปใช้ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้มีระดับคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งแนวทางการขนส่งทางรางของประเทศไทยในอนาคต จะสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามาประกอบกิจการขนส่งทางรางมากขึ้น จะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันของผู้ประกอบการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพและบริการ จึงจะเป็นผลดีในการได้รับบริการของประชาชน แต่การสนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมประกอบกิจการขนส่งทางราง จำเป็นต้องมีการกำหนดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ กติกา รวมถึงมาตรฐานของการให้บริการให้ชัดเจน อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งการกำหนดกฎหมายลำดับรองในด้านมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง การอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง การกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากราง และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งรัดในการพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมของสาขาการขนส่งทางราง ทำให้ต้องมีการวางแผนและการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง รวมทั้งออกแบบกลไกการกำกับดูแล และพัฒนากฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทยมีมาตรฐานในระดับสากล