สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (หาดใหญ่) เปิดรับสมัครเข้าร่วมอบรมพัฒนาวิชาชีพและการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจผ้าและเครื่องแต่งกายภาคใต้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2563 เปิดอบรมในหลักสูตร “การทำผ้าบาติกเขียนเทียน” ในโอกาสนี้ คุณไพฑูรย์ แก้วทอน เจ้าหน้าที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ. ได้ให้ข้อมูลว่า บาติก กำเนิดที่ใดนั้นยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัด ข้อมูลจากบรรดานักวิชาการ แต่ทราบว่าบาติกกำเนิดมากว่า 2,000 ปี เชื่อว่าบาติกมีต้นกำเนิดที่อินเดีย และแพร่หลายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอินโดนีเซีย บางคนเชื่อว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซียเนื่องจากพบบาติกที่เก่าแก่ที่นั่น บางคนเชื่อว่าเป็นศิลปะดั้งเดิมของอินโดนีเซีย
ผ้าบาติก (เขียนเทียน/จันติ้ง) เทียนเป็นศิลปะที่อิสระ เทียนเป็นตัวกั้นสี ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนภาพแนวธรรมชาติ วิว ทะเล ปลา ดอกไม้ เป็นต้น ผ้าบาติก เป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรม สร้างคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์จากผ้าท้องถิ่นภาคใต้ พร้อมทั้งต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมได้ ทั้งยังต่อยอดเป็นธุรกิจของตัวเองได้ในอนาคต
คุณไพฑูรย์ แก้วทอน
เจ้าหน้าที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.
วัสดุอุปกรณ์การทำผ้าบาติก
- ผ้า ผ้าที่ใช้ได้เหมาะสมและเป็นที่นิยมทั่วไปคือ ผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน
- ปากกาเขียนเทียน (จันติ้ง) มีรูปแบบคล้ายกับปากกา ขนาดเบอร์ L , M , S และ SS
- เหล็กแทงปากกาเขียนเทียน ซึ่งอาจทำด้วยเส้นลวดเส้นทองแดง , สายกีตาร์เบอร์เล็กสุด
- น้ำเทียน เป็นส่วนผสมระหว่างขี้ผึ้ง (WAX) กับพาราฟีน (PARAFIN) ในอัตราส่วน 1 : 2
- ภาชนะต้มเทียน และเตาต้มเทียน
- เฟรมขึงผ้า (กรอบไม้)
- น้ำยาเคลือบ ใช้โซเดียมซิลิเกต มีคุณสมบัติยึดสีให้ติดกับผ้า
- ชุดอุปกรณ์ต้มผ้า เป็นอุปกรณ์ที่หาได้ในบ้าน เช่น หม้อ ปีปน้ำ กะละมัง และเตาแก๊ส
- พู่กันและแปรง สำหรับผู้เริ่มฝึกเขียนควรใช้พู่กันเบอร์ 0 , 8 , 10
- สีเพื่อย้อมผ้าบาติก
คำว่า บาติก (BATIK) เป็นภาษาชวา เป็นคำกิริยาที่มาจากคำว่า TIK ที่มีความหมายว่าเป็นการทำให้เป็นจุด , แต้ม , ดวง , หยด (Spots) หรือ (Dots) หรือหมายถึงการวาดเขียน(Drawing) การวาดระบายสี(Painting) หรือการเขียน (Writing)
อย่างไรก็ตามการทำบาติก เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน การทำบาติกในช่วงแรกๆ เป็นการทำบาติกที่มีลักษณะตามความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอยมากกว่า เมื่อบาติกเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปตามส่วนต่างๆ แล้ว การพัฒนารูปแบบและเทคนิควิธีการของแต่ละแห่งก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีรูปแบบที่สะท้อนและแสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจะทำให้ทราบปัญหาและเข้าใจกระบวนการทำ สามารถพลิกแพลงและสร้างสรรค์เทคนิค วิธีการ และรูปแบบการทำบาติกได้มากขึ้น