จากกรณีคดีน้องกานต์ที่พ่อแม่ละเลยหน้าที่ในการดูแลน้องกานต์ทางกฎหมายแยกประเภทการจดทะเบียนสมรสไว้ว่า ถ้าจดทะเบียนสมรส บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อแม่ จะโยงไปเรื่องอำนาจปกครองได้ทั้งฝ่ายพ่อและแม่ ถ้าไม่จดทะเบียน เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียว และเป็นบุตรนอกสมรสของบิดาบิดาจึงไม่มีอำนาจปกครองบุตร
“โดยหลักบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา โดยทั้งคู่มีอำนาจปกครองร่วมกัน ไม่สามารถสละ หรือโอนไปให้ผู้อื่นได้ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย หรือตกลงหย่าโดยความยินยอม”
ซึ่งบิดามารดาจะมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร และยังมีสิทธิในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองกำหนดที่อยู่บุตรด้วย ดังนั้น ถ้าบิดามารดาจะมอบบุตรให้อยู่ภายใต้การดูแลของญาติพี่น้องก็ย่อมทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้บิดามารดายังมีหน้าที่อุปการะบุตรอยู่ การที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่ได้มีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยตรงแต่ถ้ามีการทำร้ายทุบตี กักขังหน่วงเหนี่ยว ทอดทิ้งก็จะผิดกฎหมายอาญาตามเรื่องนั้นๆ แต่ปัจจุบันมีกฎหมายเฉพาะคือ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งมีมาตรา 23 25 26 เป็นหัวใจสำคัญกำหนดหน้าที่ไว้
คำนิยาม “อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตร”
อำนาจปกครองบุตร เป็นสิทธิและหน้าที่ที่บิดามารดาพึงมีต่อบุตร บิดามารดาผู้มีอำนาจปกครองมีสิทธิตัดสินใจเกี่ยวกับบุตร เช่น บิดามารดามีหน้าที่ที่จะดูแล อบรมสั่งสอนบุตร อำนาจปกครองในกฎหมายแพ่งมีนิยามกว้างกว่าคำว่า “การปกครองดูแล” คุณจะทราบว่ากฎหมายแพ่งนั้น “การปกครองดูแล” นั้นจะหมายความถึงแต่เพียงบิดามารดาที่ได้ดูแลบุตรเท่านั้นแต่ะอาจจะไม่ได้มี “อำนาจปกครอง” บุตรด้วย คำนิยาม “อำนาจปกครอง” ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายมาตรา เช่น มาตรา 1549 1551
มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
- กำหนดที่อยู่ของบุตร
- ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
- ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
- เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตร มีขึ้นนับตั้งแต่บุตรถือกำเนิดมา เป็นอำนาจที่ใช้ในการเลี้ยงดูรักษาบุตรให้เจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า และบุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองนี้มีเฉพาะบุตรผู้เยาว์เท่านั้น หากบรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาอีกต่อไป สำหรับการใช้อำนาจปกครองบุตรนี้ บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจปกครองโดยลำพัง และจะสละอำนาจปกครองบุตรให้บุคคลอื่นไม่ได้
อ.สุพัทธ์รดา เปล่งแสง
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรณีที่มีเหตุให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมมีได้ ตามมาตรา 1566 วรรคสองและวรรคท้าย และมาตรา 1568 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
- มารดาหรือบิดาเสียชีวิต บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
- ไม่เป็นการแน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิต เช่น มารดาหรือบิดาหายไปไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
- มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเมือนไร้ความสามารถ เช่นนี้บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
- มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
- ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นนี้ศาลจะต้องคำนึงถึงความุขและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เช่น บิดามารดาหย่าขาดจากกันขณะที่บุตรยังเล็กอยู่ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาคนเดียวก็ได้