สงขลานครินทร์ วิเคราะห์เส้นทางสู่เศรษฐกิจวิถีใหม่ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก สู่วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จาก 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้ร่วมให้ความเห็น ในประเด็นเส้นทางสู่เศรษฐกิจวิถีใหม่ หลัง COVID-19 โดยนำผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในภาคใต้มาคาดการณ์รูปแบบของการดำเนินชีวิตที่เอื้อต่อเศรษฐกิจของตัวเองและภาคใต้ในอนาคต โดยเศรษฐกิจฐานรากจะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเร็วขึ้น เป็นโอกาสที่ดีของภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขและอาหาร การทำธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการด้านเศรษฐกิจจาก 5 วิทยาเขต   โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. โสภิณ จิระเกียรติกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์  ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว  ผศ.ดร.วีระศักดิ์ คงฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัย คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ  และ ผศ.ดร.ปาริชาติ มณีมัย คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ  ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ภาสกร ธรรมโชติ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ  ได้ให้ความเห็น เจาะลึกประเด็นเส้นทางสู่เศรษฐกิจวิถีใหม่  “Navigating New Normal Economy” ในรายการ PSU Live: This is PSU Series EP 2 

ปัจจุบัน เศรษฐกิจภาคใต้ขึ้นอยู่กับ 4 ด้านหลักคือ การท่องเที่ยว  การเกษตร การค้า และ การผลิต จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการล้อคดาวน์ มีผลกระทบต่อภาคบริการและธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดการดำเนินการทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ แรงงานถูกเลิกจ้าง อำนาจการซื้อหายไป มีการชะลอตัวของการส่งออกธุรกิจการเกษตรเช่น ยางพารา ปาล์ม ประมง ผัก ผลไม้

จังหวัดภูเก็ตซึ่งรายได้จากทุกภาคส่วนยึดโยงอยู่กับการท่องเที่ยว รายได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ GPP ของจังหวัดมาจากธุรกิจที่พักและร้านอาหารในสัดส่วนที่สูงที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกกระทบมากที่สุด จากการใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่าความเสียหายในภาพรวมของประเทศถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีจำนวน 127,000 ล้านบาท เป็นความเสียหายเฉพาะของจังหวัดภูเก็ตถึง 65,000 ล้านบาท ส่วนจังหวัดสงขลาและจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอเกาะสมุย ซึ่งอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ทำให้หลายธุรกิจเช่น โรงแรม ร้านอาหารและบริการอื่นๆ ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ถึงแม้จะมีการคลายมาตรการเข้มงวด แต่ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนจังหวัดที่พึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ในขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีการติดต่อและแรงงานเคลื่อนย้ายระหว่างมาเลเซีย ไทยและอินโดนีเชีย ได้รับผลกระทบในภาคการค้าชายแดน เนื่องจากมีด่านผ่านเข้าออกประเทศมาเลเซีย 4 ด่าน การจำกัดคนเข้าออกประเทศทำให้การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคไม่คล่องตัวเหมือนที่เคยเป็น

ส่วนภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตร ยางพารา อาหารทะเล น้ำมันปาล์มดิบ ในจังหวัดตรัง สุราษฎร์ธานี และสงขลาได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าสาขาอื่น เนื่องจากภาคเกษตรเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่และจำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศได้ ส่วนภาคการผลิตที่ไม่กระทบและอาจถือเป็นโอกาสที่ดีในอนาคต คือการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข อุตสาหกรรมถุงมือยาง กลุ่มอาหารทะเลกระป๋องที่ยังมีความต้องการจากทางฝั่งยุโรปเพราะเป็นสินค้าจำเป็น  แต่หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบให้เงินสะสมของประชาชนลดลงไปเรื่อยๆ

ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจชุมชน ประชาชนเริ่มมองถึงเศรษฐกิจของตัวเองเป็นตัวหลักและเห็นความสำคัญของครอบครัวและพี่น้องเป็นอันดับต้นๆ และมุ่งหาแนวทางในการสร้างงานให้กับตนเองในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเช่นการทำธุรกิจออนไลน์ การเพิ่มของธุรกิจร้านอาหารซึ่งเกิดขึ้นมากในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ที่สำคัญจะต้องดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐานในทุกภาคส่วน

สำหรับการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ หรือ New normal ภายหลังการระบาดของโรค ประชาชนต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างกลไกภูมิคุ้มกันให้สามารถเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาคำนึงถึงเรื่องของ Social distancing และสุขอนามัยมากขึ้น จะมีรูปแบบของสังคมปลอดเชื้อมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและภาคบริการ ธุรกิจออนไลน์จะได้รับความสนใจมากขึ้น การให้บริการต่างๆ จะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เศรษฐกิจต่อไปจะออกไปในแนวพึ่งตนเองให้มีอาชีพทำไว้ก่อนและใช้การศึกษาเข้ามาเสริมภายหลังในรูปแบบวิธีการเรียนที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม  New normal หลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่กระทบความเป็นอยู่ คือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง การกินอยู่อย่างพอกินพอใช้ การพึ่งพาตนเอง การผลิตที่จะบริโภคเอง การคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความมั่นคงทางด้านอาหาร และโดยที่พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงยากมาก การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเพราะความโยงใยทางสังคมที่เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์คงเป็นเรื่องที่กลับมาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนคือเรื่องของสุขภาพอนามัย