ผ้ามัดย้อม (Tie-dye) เป็นศิลปะการสร้างลวดลายและสีสันบนผืนผ้าที่มีมานาน การสร้างลวดลายบนผืนผ้ามีหลายวิธีตามจินตนาการ บางผืนก็กลายเป็นผ้าที่มีลวดลายแปลกใหม่เพียงผืนเดียวในโลก เป็นงานศิลปะที่ช่วยสร้างจินตนาการ สนุกไปกับความคาดหวังว่าเมื่อเราคลี่ผ้าออกจากพันธนาการของเชือกแล้วผ้าจะมีลวดลายเป็นอย่างที่ใจปรารถนาหรือไม่? สำหรับผ้าที่นำมาใช้ในการมัดย้อมสีครามธรรมชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ไหม ลินิน กัญชง เป็นต้น เพื่อการซึมซับที่ดีของสีจากธรรมชาติ โดยเฉพาะสีครามจะดูดซับเส้นใยฝ้ายได้ดี และให้สีสวยงาม
“ผ้ามัดย้อมมีมานับพันปี ในแต่ละประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกัน การมัดย้อมจะมีเทคนิคการเนา มัด ตรึง ผูก พัน พับ ม้วน จีบ หนีบ ใช้เชือกหรือหนังยางก็ได้ ส่วนการเลี้ยงครามธรรมชาติโดยต้นครามต้องมีอายุ 3-4 เดือนจากนั้นก็นำมาแช่น้ำ 24 ช.ม. จากนั้นใช้ปูน (ปูนกินหมาก) ละลายลงไปทิ้งไว้ 6-12 ช.ม. เพื่อให้ตกตะกอนเพื่อให้ได้เนื้อคราม จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการก่อหม้อคราม บางสูตรอาจเติมน้ำซาวข้าว น้ำตาลทรายแดง เหล้าขาว กล้วยน้ำว้า หรือผลมะเฟืองสุก ใช้เวลาในการก่อหม้อเพื่อเตรียมน้ำย้อมเป็นเวลา 14 วัน เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ก็สามารถย้อมผ้าครามได้”
คุณนราวดี โลหะจินดา
นักวิชาการอุดมศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.
สีครามธรรมชาติ (Indigo) ที่นำมาใช้ในงานมัดย้อม มาจากพืชตระกูล Indigofera tinctoria L. ที่สามารถพบเห็นได้บนพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลในจังหวัดปัตตานี พืชตระกูล Indigofera tinctoria L. ยังสามารถพบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
“สีครามที่ได้จากต้นคราม( Indigofera tinctoria L.)นั้น มีขั้นตอนมากมาย กว่าเราจะได้ผ้าคราม 1 ผืน อาจกินเวลายาวแรมปี นับตั้งแต่การปลูกต้นครามต้องมีอายุ 4 เดือน ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ และมีขั้นตอนมากมาย”
ผ้าย้อมครามมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการทั้งป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ลดกลิ่นเหงื่อ ปกป้องรักษาผิว ปัจจุบันผ้าย้อมครามธรรมชาติจึงได้รับความนิยมและมีราคาสูง