คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.อ.ย้ำ กรณีนำสัตว์ใหญ่มารักษาให้ติดต่อล่วงหน้าเพื่อวางแผนการรักษา

อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.อ. ให้คำแนะนำสำหรับการนำสัตว์มาเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสัตว์และโรงพยาบาลปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “โดยขอให้ผู้ที่จะนำสัตว์ใหญ่มาทำการรักษาได้ติดต่อประสานล่วงหน้าก่อนที่จะนำสัตว์มาเพื่อจะได้ทราบความพร้อมของเครื่องมือที่จะทำการรักษา”

รศ.สพ.ญ.อุษา เชษฐานนท์
คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์

รศ.สพ.ญ.อุษา เชษฐานนท์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ขอเรียนมายังสาธารณชนว่า โดยทั่วไปในการนำสัตว์มารักษาจะมีเจ้าของสัตว์นำมาซึ่งจะทำให้สัตวแพทย์สามารถซักประวัติการเจ็บป่วย ตลอดจนเจ้าของสามารถเจรจาตกลงในแผนการรักษาและเซ็นต์ใบยินยอมในการรักษาสัตว์พร้อมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น กรณีที่สัตว์ป่วยไม่มีเจ้าของจะมีความเสี่ยงกับโรคที่แฝงมากับตัวสัตว์ โดยเฉพาะการนำสัตว์ใหญ่ เช่น โค กระบือจากพื้นที่อื่น จะมีความเสี่ยงที่จะนำโรคระบาดเข้าพื้นที่ที่ปลอดโรคและนำไปสู่การแพร่ระบาดในฝูงสัตว์อื่นอย่างกว้างขวางได้

“การรักษาสัตว์ใหญ่ที่บาดเจ็บจากการถูกรถชน จะต้องมีการประเมินสภาพสัตว์ว่าร่างกายเกิดบาดแผลรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เพราะความก้าวหน้าในการรักษาโครงสร้างกระดูกและข้อของสัตว์ใหญ่มีข้อจำกัดมากกว่าสัตว์เล็ก โดยเฉพาะเครื่องเอ็กซเรย์ที่ใช้กับสัตว์ที่น้ำหนัก 500 กิโลกรัมก็  อุปกรณ์รักษากระดูกสัตว์ใหญ่ก็ซึ่งยากที่จะรองรับน้ำหนักสัตว์ใหญ่ขนาดนั้นได้ ทำให้โอกาสรักษาหายมีน้อย จะต้องเป็นสัตว์พิการที่เจ้าของต้องให้การดูแลพิเศษไปตลอดชีวิต ดังนั้น โรงพยาบาลสัตว์จึงขอให้ผู้ที่จะนำสัตว์ใหญ่มาทำการรักษาได้ติดต่อประสานล่วงหน้าก่อนที่จะนำสัตว์มาเพื่อจะได้ทราบความพร้อมของเครื่องมือที่จะทำการรักษา”

“สัตว์ใหญ่เมื่อขาหักจะไม่สามารถใช้ขาในการพยุงตัวขึ้นมาได้ ต้องได้รับการประเมินอาการและให้การรักษาที่เหมาะสม ต้องคำนึงถึงกรณีหากสัตว์ก็จะได้รับความเครียดและเจ็บปวด ที่จะทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา และส่งผลให้อาการโดยรวมแย่ลงไปอีก สัตวแพทย์มีหน้าที่และจรรยาบรรณในการรักษาสัตว์และเข้าใจในจิตใจของเจ้าของสัตว์ได้ดี ขณะเดียวกันสัตวแพทย์ก็ต้องประเมินว่าลักษณะอาการบาดเจ็บจะทำให้เป็นการทรมานสัตว์โดยที่ไม่มีโอกาสจะรักษาหายหรือไม่ หรือหากสัตว์ต้องพิการและอยู่ด้วยความทรมานนั้นขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่ จึงอยากจะขอให้ผู้รักสัตว์ได้เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพด้วย”

นสพ.กรฤต จันเนียม
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีที่ตั้งอยู่ 2 จุด คือ อาคารจุฬาภรณการุณยรักษ์ ถนนปุณณกัณฑ์ ต.คอหงส์ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับสัตว์ที่มีขนาดเล็ก รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนของนักศึกษา และสถานที่ฝึกอบรมความรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่  และที่โรงพยาบาลปศุสัตว์  ตำบลทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพสัตว์หลายประเภท ทั้งสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ปศุสัตว์  สัตว์น้ำ  สัตว์ต่างถิ่น  สัตว์ชนิดพิเศษ  และสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เฉพาะถิ่นในภาคใต้ เช่น โคชน สัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เช่น แพะ สัตว์น้ำเศรษฐกิจ นกเขาชวาเสียง และนกกรงหัวจุก เป็นต้น