ตอนนี้ “ดาวหางนีโอไวส์” กำลังเป็นที่จับตามอง มีภาพถ่ายของดาวหางจากทั่วทุกมุมโลกเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยเองแม้จะตรงกับฤดูฝนที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก แต่คนไทยก็ยังมีลุ้นถ่ายภาพดาวหางเก็บไว้ได้เช่นกัน และตอนนี้ก็เหลือเวลาให้ชมความสวยงามของดาวหางนีโอไวส์ กันอีกแค่วันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2563
เหล่านักดาราศาสตร์และนักดูดาวทั่วโลกต่างกำลังรอชมปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น “ครั้งเดียวในชั่วชีวิต” ที่ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 เคลื่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 6,800 ปี ดาวหางนีโอไวส์ เป็นหนึ่งในดาวหางเพียงไม่กี่ดวงในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในขณะที่มันกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และในวันที่ 23 ก.ค.นี้ จะเคลื่อนเข้าใกล้โลกที่สุด โดยอยู่ห่างออกไปราว 103 ล้านกิโลเมตร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้แนะนำช่วงเวลาในการชมดาวหางมีดังนี้
วันที่ 20-23 ก.ค. เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอประมาณ แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า
วันที่ 23 ก.ค. เป็นวันที่ดาวหางนีโอไวส์ เข้าใกล้โลกที่สุด หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้
สมาคมดาราศาสตร์ไทย แนะนำการสังเกตดาวหางนีโอไวส์ ในวันที่ 23 ก.ค. ว่า หากสามารถมองเห็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหมีใหญ่ได้อย่างชัดเจนก็มีโอกาสจะเห็นดาวหางได้ ให้มองหาดาวหางโดยการดูตำแหน่งดาวหางเทียบกับดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียง สังเกตได้ว่าดาวหางมีลักษณะแตกต่างจากดาวฤกษ์ ตรงที่หัวดาวหางฝ้ามัว และอาจมองเห็นหางฝุ่นที่สะท้อนแสงอาทิตย์ ส่วนหางแก๊สที่มีสีน้ำเงินจางกว่าหางฝุ่นมาก โดยทั่วไปจะเห็นได้ในภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องรับแสงเป็นเวลานานเท่านั้น
รู้จักดาวหางนีโอไวส์
ดาวหางนีโอไวส์ เป็นดาวหางคาบยาว ที่มีหางที่เห็นได้ชัดถึง 2 แฉก โดยจะมีหาง 2 ส่วน หางส่วนบน เรียกว่า “หางไอออน” มีความยาวมากกว่าหางส่วนล่าง แต่จะสว่างน้อยกว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแก๊สที่อยู่รอบดาวหางแล้วแตกตัวออกเป็นไอออน เนื่องจากได้รับพลังงานจากลมสุริยะ ส่งผลให้เกิดการเรืองแสงเป็นแนวยาวออกมา
หางส่วนล่างจะมีความฟุ้ง สะท้อนรับกับแสงของดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี เรียกว่า “หางฝุ่น” ซึ่งเกิดจากอนุภาคฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากนิวเคลียสขณะที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ปรากฏเป็นแถบโค้งสว่างไปในทิศทางเดียวกับการโคจร
ขอบคุณข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ