เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนระวังโรครากเน่าโคนเน่าช่วงฝนตกชุกความชื้นสูง

คุณสุพิต  จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนระวังโรครากเน่าโคนเน่าช่วงฝนตกชุกซึ่งจะทำให้สวนมีความชื้นสูง เชื้อราเติบโตดีเข้าทำลายต้นทุเรียนจนถึงอาจยืนต้นตายได้

ปกติเชื้อราพวกนี้มีอยู่ในธรรมชาติ อยู่ในดินอยู่แล้ว พอฝนตกมากถ้าพื้นที่มีน้ำขังระบายไม่ได้ เชื้อราจะเข้าทำลายราก เพราะน้ำขัง ความชื้นสูง ไม่ค่อยมีแดด จะมีโอกาสเชื้อโรคทำลายสูง และความชื้นสูงเชื้อโรคก็ขยายพันธุ์ได้เร็ว  ส่วนรากก็เหมือนปากของต้นไม้ จะดูดน้ำดูดอาหาร ถ้าทำงานไม่ได้ ใบก็จะไม่ได้อาหารที่ส่งมาจากรากก็จะแสดงอาการทางใบ ส่วนน้ำขังก็จะทำรากมีปัญหา รากไม่เดิน ปลายรากก็เน่าเชื้อราเริ่มเข้า

คุณสุพิต  จิตรภักดี
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา

คุณสุพิต จิตรภักดี ให้ความรู้เรื่องโรคนี้ว่าสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าเกิดจากเชื้อราไฟทอปเทอรา ฟาล์มิรา ที่เข้าทำลายพืชตั้งแต่ ราก กิ่ง ลำต้น และใบ โดยมีอาการใบจะทยอยเหลืองจากยอดลงมา กิ่งเริ่มตาย รากเน่า โคนเน่าถึงขนาดอาจมีน้ำเยิ้มออกมา นั่นคือเชื้อเข้าทำลายท่อน้ำท่ออาหารของต้นทุเรียน  ทุเรียนที่อ่อนแอต่อเชื้อและมีปัญหาเกิดโรคนี้บ่อยที่สุดคือทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์การค้าหลักของไทย ผอ.สุพิตย้ำข้อแนะนำกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนว่าการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้คือการจัดการสวนไม่ให้เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรค

“ต้องจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมของสวน พยายามตัดหญ้าให้เตียนอย่าให้รกมาก เพราะจะทำให้ความชื้นสูง หมั่นใส่ปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมี ถ้าเน้นปุ๋ยเคมีเยอะมีโอกาสเกิดโรคสูง เพราะการใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไปจะทำให้ดินมีความเป็นกรดสูง เชื้อจะชอบ ถ้าเป็นสวนเก่าๆที่ปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์ที่เกิดจากการเสียบยอดแบบเก่าก็จะเจอเยอะ แต่ตอนนี้เกษตรกรทำสวนทุเรียนแบบใหม่คือ 2 แบบใหญ่ๆในช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา ก็คือเป็นแบบยกร่องแห้ง กับแบบโคกหรือทำเนินเป็นจุดๆที่จะปลูกทุเรียน ทั้ง 2 แบบ ซึ่งมีข้อดีคือถ้าฝนตกหนักน้ำจะไม่ขังบริเวณโคกหรือบริเวณที่ปลูกทุเรียน นอกจากนั้นยังมีเทคนิคเสริมที่เห็นกันมากขึ้นในช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา คือปลูกกิ่งพันธุ์และปลูกต้นทุเรียนพื้นเมือง พอทุเรียนพื้นเมืองโตสัก 50-60 เซ็นต์ก็เสียบเสริมรากกับต้นหลัก หรือปลูกแบบต้นตอพันธุ์พื้นเมืองแล้วเอายอดของพันธุ์ดีมาเสียบทีหลังก็ทำให้ต้านทานโรคนี้ได้ดีขึ้น”

นอกจากนั้นวิธีการใช้เชื้อไตรโคเดอม่าราดโคนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยป้องกันได้อีกทางหนึ่ง แต่ถ้าอาการของโรคค่อนข้างรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้สารเคมีช่วย

โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน

สาเหตุ เชื้อรา Phytophthora palmivora (Butler) อาการ ใบทุเรียนไม่เป็นมันสดในแต่จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดและร่วม บริเวณลำต้น กิ่ง หรือรากที่เป็นโรคจะมีสีของเปลือกเข้มเป็นจุดฉ่ำน้ำ ต้นที่อาการรุนแรงจะมีน้ำยางไหลออกมาโดยเฉพาะช่วงเช้าที่อากาศชื้น

การป้องกัน, การกำจัด

  • ตรวจวิเคราะห์และปรับปรุงดินเพื่อไม่ให้ดินมีความเป็นกรดสูงเกินไป ใส่ปุ๋ยหมักหรือปูนขาวช่วยปรับสภาพดิน ค่า pH ที่เหมาะสมอยู่ที่ 6.5-7
  • ร่องระบายน้ำในสวนเพื่อไม่ให้น้ำท่วม
  • ตัดแต่งกิ่ง เก็บใบ ดอก ผลที่เป็นโรคและร่วงบริเวณสวนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • ถ้าเริ่มมีอาการเล็กน้อยตามต้นหรือกิ่งให้ขูดผิวเปลือกแล้วทาด้วยปูนแดงหรือเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรีย บาซีลัส ซับทีริส
  • ถ้าอาการรุนแรง ฉีดพ่อนด้วยฟอสฟอรัส แอซิด 40 เปอร์เซ็นต์บริเวณที่เป็นโรค

**** ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สงขลา ****