คุยกัน (KhuiKun) เป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ ที่มีให้บริการบนแอปพลิเคชั่นไลน์ เป็นบริการสุขภาพจิตให้การปรึกษาเบื้องต้น ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ที่คร่าชีวิตผู้คนก่อนวัยอันควร
บริการดังกล่าวนี้ เป็นบริการเชิงรุกในยุคโควิดโดยอธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ได้มีนโยบายให้หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต ปรับปรุงบริการสุขภาพจิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ที่พวกเราๆท่านๆทั้งหลายต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังสร้างปัญหาไปทั่วโลก ซึ่งมีบริการเชิงรุกมากมายเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ยุค New Normal ให้ประชาชนไทย (ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ) ได้สามารถเลือกใช้บริการ ในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงของโควิด-19
บริการแชทคุยกัน (KhuiKun) รับฟัง (ทุกปัญหา) ปรึกษา (หาทางออก) คุยกัน (ได้ตลอด)
ดังนั้น กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิตมายาวนาน ได้พยายามที่จะปรับปรุงบริการต่างๆให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันของผู้คน บริการแชทคุยกันจึงได้เกิดขึ้น ในเมื่อโลกทางธุรกิจทำได้ พวกเราชาวกรมสุขภาพจิตก็ทำได้เช่นกัน เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงที่ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งบริการแชทคุยกันนี้ มีมากกว่าแชทบอท ซึ่งเป็นการคุยกับข้อมูล (ที่ถูกรวบรวมมาจากคำถามคำตอบที่มักถามบ่อยๆ) ที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยี AI ตอบคำถามแบบ real time แต่บริการแชทบอทจึงมีข้อจำกัดตรงที่ถ้าถามไม่ตรงคำตอบที่มีก็จะจบการสนทนา
บริการให้การปรึกษาสุขภาพจิตแอปคุยกันนี้ ประชาชนที่เลือกใช้บริการจะได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (ตัวเป็นๆค่ะ) ในสามประเด็นหลักๆคือ รับฟัง (ทุกปัญหา) ให้การปรึกษา (หาทางออก) และ คุยกัน (ได้ตลอด) ในช่วงเวลาทำการตั้งแต่ 8.00 ถึง 0.00 น. นั่นคือ แม้ว่าจะเป็นเวลาหลังเวลาราชการยังมีผู้ให้บริการปรึกษาไปจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งทางโรงพยาบาลเองได้จัดเจ้าหน้าที่ขึ้นเวรนอกเวลาเพื่อคอยตอบคำถามผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่เหมาะสม และได้รับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาอย่างทันท่วงที และท่านจะได้คุยกับบอทก็คือหลังเที่ยงคืนไปแล้ว
ถือเป็นโอกาสอันดีของประชาชนที่จะเข้าเลือกใช้บริการ โดยในช่วงที่เปิดบริการมาแล้วนี้ มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวไทยในประเทศ ในต่างประเทศ และชาวต่างชาติ เข้าใช้บริการ ซึ่งบริการดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากบริการให้การช่วยเหลือบุคคลากรช่วงปัญหาโควิด-19 ในประเทศระบาดอย่างกว้างขวางเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะบรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่การคงบริการให้ทันท่วงทีและมีลักษณะเชิงรุกจึงได้ถูกพัฒนาให้ตอบสนองประชาชนทั่วไปมากขึ้น
ข้อมูล: กรมสุขภาพจิต