วัยทอง เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉลี่ยวัยของผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุในช่วง 40-59 ปี ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สตรีวัยทองสามารถดูแลตนเองและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้
“สำหรับผู้หญิง วัยก่อนหมดประจำเดือน ที่เรียกว่า “วัยเปลี่ยนผ่าน” เปลี่ยนจากวัยที่ยังมีประจำเดือน ใช้ชีวิตตามปกติ ไปสู่วัยที่จะเข้าสู่วัยทองจริงๆ ตรงนี้มีความสำคัญ โดยเริ่มมีอาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ประจำเดือนเริ่มมาผิดปกติ จากนั้นจะเข้าสู่วัยทองจริงๆ หรือวัยหมดประจำเดือน”
อ.สาธิต คลังสิน
อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.
สำหรับอาการวัยทองแต่ละรายอาจเกิดอาการวัยทองมากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการจนกระทั่งมีอาการมากและกระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อาการวัยทองอาจแบ่งออกได้เป็นอาการทางร่างกายและอาการทางจิตใจ
อาการทางร่างกาย
ร้อนวูบวาบ เป็นอาการทางร่างกายที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีวัยทอง และเป็นอาการที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นอาการร้อนตามตัวและใบหน้าซึ่งอาจมีเหงื่อออกที่ใบหน้าร่วมด้วยได้ เหงื่อออกในตอนกลางคืน นอนไม่หลับ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย ใจสั่น เป็นอาการที่เกิดได้เป็นระยะ และไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทำให้ผู้หญิงวัยทองอาจมีความวิตกกังวลเนื่องมาจากการไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เป็นต้น
อาการทางจิตใจ
ส่วนใหญ่อาการทางร่างกายและจิตใจจะเกิดร่วมกันจนยากที่จะบอกว่าอาการใดเกิดขึ้นก่อน อาการทางจิตใจที่พบได้บ่อย คือ อาการซึมเศร้า หลงลืมง่าย สมาธิสั้น และหงุดหงิดง่าย พบว่าอาการซึมเศร้าเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดและมีผลต่อการอยู่ร่วมในสังคมมากที่สุด
วัยทองไม่ใช่โรค แต่เป็นส่วนหนึ่งของความเสื่อมตามวัย ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง และต้องเตรียมตัว ภาวะความมั่นคงทางอารมณ์ หากเป็นปัจจัยทางบวก สามารถส่งเสริมให้มีความสุขได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าเมื่อไหร่ที่มีปัจจัยเชิงลบ แต่..ถ้าเป็นคนที่มั่นคงทางอารมณ์ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงก็สามารถมีความสุขได้ สำหรับบางคนที่ตั้งรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
ผศ.พญ.กรัณฑรัตน์ ปิยนันท์จรัสศรี
อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.
ทั้งนี้หากได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตแล้ว แต่ยังคงมีอาการของวัยทองที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงหรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษา