ปัญหาขยะทะเลและอันตรายจากไมโครพลาสติก

ปัญหาขยะทะเลยังคงเป็นปัญหาที่ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญ ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เจตนาและไม่เจตนาทิ้งขยะบนบกลงสู่ทะเลหรือแม่น้ำ ขยะเหล่านี้จะถูกพัดพาลงสู่ทะเลโดยกระแสลมและกระแสน้ำ ดังนั้นขยะทะเลจึงถูกพบในพื้นที่ทั่วทุกทะเลทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้มีเดินหน้าแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง โดยการดำเนินการด้านต่างๆ เช่น จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573  โดยตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562  การเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดและแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 รวมถึงการนำขยะพลาสติกเป้าหมาย กลับมาใช้ใหม่ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 เป็นต้น

“สำหรับประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการการลด ละ เลิกใช้พลาสติกมาสักระยะหนึ่งนับเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ทำให้เห็นว่าทุกคนมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดอันดับประเทศจาก 6 เป็น 10 ของโลก”

รศ.ดร.ประวิทย์ โตวัฒนะ นักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขยะทะเลว่า เนื่องจากปัญหาขยะทะเลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประมง รวมถึงทำลายภาคการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ขยะทะเลมีแหล่งกำเนิดมาจากบนบก เช่น ขยะครัวเรือน ชุมชน แหล่งฝังกลบ มีการจัดการไม่ถูกต้อง การทิ้งขยะบริเวณชายหาดหรือชายฝั่ง แม้กระทั้งวัสดุจากการปทำประมงบางชนิด ในขณะที่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดการขยะที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดอันดับประเทศจาก 6 เป็น 10 ของโลก แต่อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดูแล รักษาและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง

“ไมโครพลาสติกที่เกิดจากการแตกหักของพลาสติกชิ้นใหญ่ๆ ที่โดยแสง กระแสลม และคลื่นกระทบทำให้แตกตัวเป็นชิ้นๆเล็กขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จากการศึกษาถึงอันตรายจากไมโครพลาสติก ตั้งแต่ปี 2560 ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและ จ.สตูล พบว่าในตัวปลาเศรษฐกิจที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดบริเวณชายฝั่งนั้นๆ มีไมโครพลาสติก 50-70% มีกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนานและหากมนุษย์ได้รับไมโครพลาสติกสะสมในร่างกายจะเป็นอันตราย”

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้ลดอันดับเรื่องของขยะพลาสติกจาก 6 เป็น 10 ของโลกแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องแก้ปัญหาขยะพลาสติกโดยการคัดแยกขยะ ลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นทางเลือกที่ดีและหลายประเทศเลือกใช้เพื่อให้สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสร้างจิตสำนึกในการลดใช้พลาสติก นับเป็นการจัดการขยะในภาพรวมของประเทศที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *