วิทยาการจัดาการ ม.อ. ร่วมกับออมสินพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีส่วนในการใช้องค์ความรู้ของการวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณการศาสตร์ในทุกสาขาวิชา สอดคล้องกับการที่คณะวิทยาการจัดการมีศาสตร์การจัดการที่หลากหลายทั้งศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจ การบัญชี และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งคณะวิทยาการจัดการ ก็ได้ปักหมุดพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่นำร่องในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ รวมไปถึงการดำเนินโครงการร่วมกับธนาคารออมสินตามโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย โดยนักศึกษาและคณาจารย์ได้ลงพื้นที่ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 4 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนโคกเมือง กลุ่มปลูกผักสหกรณ์การเกษตร อำเภอควนเนียง กลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านหน้าควน และกลุ่มพลิ้วฟาร์มสเตย์ ซึ่งคณะวิทยาการจัดการ ได้มุ่งเป้าผลักดันโครงการวิจัย วจก. สู่ชุมชน เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) คือ เน้นพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (University  Engagement)

“นักศึกษาและอาจารย์ของคณะวิทยาการจัดการได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการขาย การออม และการทำบัญชี จำนวน 4 กลุ่ม ของอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ได้แก่ 1) กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนโคกเมือง (การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ/ปลาดุกร้าทอดกรอบ/แกงไตปลาแห้ง) 2) กลุ่มปลูกผักสหกรณ์การเกษตร อำเภอควนเนียง (ผักปลอดสารพิษ/ชุดผักสลัด/ชุดผักแกงเลียง/ชุดผักจับฉ่าย) 3) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านหน้าควน (เครื่องแกงเผ็ด/เครื่องแกงส้ม/เครื่องแกงกะทิ/เครื่องแกงเขียวหวาน) 4) กลุ่มพลิ้วฟาร์มสเตย์ (โฮมสเตย์/ร้านอาหาร/ท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรอินทรีย์)”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมมือกับ ธนาคารออมสิน กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักของระบบเศรษฐกิจ โดยคณะวิทยาการจัดการได้เข้าร่วมในการจัดกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของคณะกับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น ตามโครงการ  “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” มาตั้งแต่ปี 2561 โดยได้นำนักศึกษาและคณาจารย์เข้าไปร่วมเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งได้ช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบโลโก้ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสอนการทำบัญชีให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ โดยในปี 2561 คณะได้ลงพื้นที่ 5 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

ทั้งนั้นธนาคารออมสิน ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยสำหรับโครงการดังกล่าว มีส่วนช่วยในการพัฒนานักศึกษาให้สามารถประยุกต์องค์ความรู้สมัยใหม่ที่ได้เรียนมาในการเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนบ้านเกิด โดยยังคงไว้ซึ่งการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยส่งเสริมการมีจิตสาธารณะให้แก่นักศึกษา สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระราชบิดา ที่ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *