ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล กล่าวว่ากระแสการจับหอยเม่นในท้องทะเลไทยมาบริโภคจะส่งผลต่อแนวปะการัง เพราะระยะหลังๆ คนไทยเริ่มหันมากินหอยเม่นในทะเลไทยมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ เนื่องจากหอยเม่นที่อาศัยในแนวปะการัง จะช่วยกินสาหร่ายขนาดเล็ก โดยจะแทะไปตามปะการังตายและก้อนหิน เปรียบเสมือนผู้ควบคุมปริมาณสาหร่ายในระบบนิเวศแนวปะการัง
หากเม่นทะเลถูกจับกินเป็นจำนวนมากในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาจทำให้สาหร่ายเพิ่มจำนวนขึ้น จนปะการังวัยอ่อนลงเกาะไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการังที่หลากหลายแต่บอบบาง มีสมดุลธรรมชาติ ส่งผลเสียในระยะยาว และไม่มีทางแก้ไข การป้องกันล่วงหน้าย่อมเป็นการดีกว่า เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับปลิงทะเล ที่เกิดกระแสจับไปกินจำนวนมากจนแทบไม่เหลือจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเม่นทะเลก็เป็นสัตว์พวกดาวทะเล ปลิงทะเล นั่นเอง
ส่วนกรณีการบริโภคหอยเม่นในต่างประเทศนั้น สาเหตุที่ไม่กระทบต่อระบบนิเวศมากนัก เพราะต่างประเทศมีฟาร์มเม่นทะเล แต่สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาการทำฟาร์มหอยเม่นเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจแล้วแต่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ ส่วนการออกกฎหมายคุ้มครองเม่นทะเลคงเป็นไปไม่ได้ และการประกาศห้ามจับสัตว์น้ำจากแนวปะการังทุกแห่งเป็นไปได้ยาก ยังไม่มีทางออกด้านกฎหมาย จึงได้แต่ขอร้องกันไว้ว่าตอนไปเที่ยวตามท้องทะเลก็ไม่ควรจับเม่นทะเลขึ้นมากิน
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รายงานภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นการสะพรั่งของสาหร่าย บริเวณอ่าวป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยสาหร่ายเหล่านี้ เป็นอาหารของเม่นทะเลสีแดง เมื่อสาหร่ายนี้เจริญเติบโต และถูกพัดพามาตามกระแสน้ำเข้าสู่ฝั่ง พร้อมกับเม่นทะเลที่ตามอาหาร คือกอสาหร่ายเหล่านี้เข้ามาจนถึงเขตที่ตื้นทำให้พบเม่นทะเลสีแดงเกยตื้นบนหาด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงขอความร่วมมืออย่านำ “เม่นทะเลสีแดง” ไปกินหรือทิ้ง หากเจอเกยตื้นขอให้นำปล่อยคืนสู่ทะเล เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ทำความสะอาดท้องทะเลต่อไป