ม.อ. พร้อมรับมือและเป็นศูนย์ช่วยเหลือชุมชนหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่

ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ของทุกปีภาคใต้มักได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ของหลายจังหวัดของภาคใต้และมหาวิทยาลัยได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขึ้นในหลายวิทยาเขต

นอกจากเตรียมการในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีหลายภาคส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมภาคใต้ จึงมีการเข้าสู่ชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง สู้ภัยน้ำท่วม” ในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย

อีกทั้งได้ร่วมวิเคราะห์การเตรียมความพร้อมในส่วนของภาคราชการและชุมชม และสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีแผนการจัดรายการเสวนา ติดตามสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าช่วงหน้าฝนจังหวัดสงขลา ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่าง 22-25 พฤศจิกายน 2564 ที่ ลุ่มน้ำคลองภูมี อำเภอรัตภูมิ ลุ่มน้ำคลองเทพา-นาทวี ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา และ ลุ่มน้ำคาบสมุทรสทิงพระ โดยผู้ร่วมเสวนา เป็นเจ้าหน้าที่ชลประทาน เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการรายงานข้อมูลสภาพอากาศประจำวัน จากเจ้าหน้าที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการเฝ้าระวังลักษณะอากาศในภาคใต้ตอนล่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการเตรียมการช่วยเหลือหากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ตอนล่างว่า โดยปกติจะมีการเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีผู้มีจิตอาสามาร่วมช่วยบรรจุสิ่งของที่จำเป็น การรับบริจาค และการเข้าไปให้สิ่งของในพื้นที่ประสบภัยเป็นจำนวนมาก แต่ในปีนี้หลายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยจะเปิดภาคเรียนที่สองในรูปแบบการเรียนในห้องเรียนในช่วงเดือนธันวาคม หลังจากต้องเรียนแบบออนไลน์เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดในภาคการศึกษาแรก อย่างไรก็ตามหากต้องการกำลังคนในเดือนพฤศจิกายน ก็ยังมีนักศึกษาอยู่ในหอพักจำนวนหนึ่ง และบุคลากรทั่วไป ซึ่งสามารถเข้าร่วมในการช่วยเหลือได้ โดยจะมีการระมัดระวังตามมาตรการป้องกันโควิด 19 เช่น การได้รับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัส และการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น โดยวิธีการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะไม่เพียงแต่นำของยังชีพไปมอบให้เท่านั้น แต่จะมีการพูดคุยให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย เป็นการสร้างกิจกรรมจิตอาสาและเสริมประสบการณ์การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กับนักศึกษาซึ่งภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงความพร้อมภายในวิทยาเขตหาดใหญ่ว่า “มีการเตรียมรับมือโดยร่วมกับเครือข่ายทั้งคณะหน่วยงานภายในวิทยาเขต และศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ รวมทั้งหน่วยงานภายนอกเช่น เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองคอหงส์ และศูนย์ป้องกันและบันเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา โดยในปีนี้ได้เตรียมตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงบัดนี้สถานการณ์ก็ยังเป็นปกติ เพียงแต่อาจมีการท่วมขังระยะสั้นๆ หากมีฝนตกหนักเป็นระยะเวลานาน สำหรับการรองรับผู้ประสบภัยจากภายนอก โดยปกติวิทยาเขตหาดใหญ่ จะเน้นการเตรียมสถานพยาบาล สถานที่พักพิงและที่จอดรถยนต์สำหรับผู้ที่ที่อยู่อาศัยต้องได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และให้การสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์ยานพาหนะตามกำลังที่มีอยู่ เพื่อนำบุคลากรและนักศึกษาออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงขอให้ทุกท่านมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมการอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับปัญหาและผลกระทบหากเกิดอุทกภัยขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *