ภัยเงียบโซเดียมแอบแฝง ในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs เตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภค

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลสำรวจฉลากโภชนาการ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” และ “เครื่องปรุงรส” ปี 64 อาหาร ประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณ “โซเดียม” มากที่สุดตั้งแต่ 220 – 7,200 มิลลิกรัม

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความร่วมมือภายใต้โครงการติดตามปริมาณ โซเดียม ในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ ลดเค็ม ลดโรค ได้ดำเนินการสุ่มสำรวจอ่านฉลากค่า “โซเดียม” กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปจำนวน 300 ตัวอย่างและเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนภัยใกล้ตัวจากภัยเงียบ โซเดียมแอบแฝงใน อาหารกึ่งสำเร็จรูป และ เครื่องปรุงรส บ่อเกิดของ โรค NCDs โดยมีวัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการเกิดโรค NCDs
  2. เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อนำไปสู่การลดปริมาณโซเดียมและผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย

3. เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียม

ด้วยปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารเพื่อรับประทานและด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะใช้เวลาในการเตรียมไม่นาน และกรรมวิธีในการปรุงก็ไม่ยุ่งยาก แถมยังมีรสชาติที่อร่อย

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คือ โซเดียมที่แอบแฝงมา ไม่ว่ารสชาติเดิมจากผลิตภัณฑ์จะอร่อยแค่ไหน คนเราก็หนีไม่พ้นกับการปรุงเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง ซอสปรุงรส ซึ่งปกติคนเราหากกินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

ขอเน้นให้ผู้บริโภคหันมาอ่านฉลากกันแบบจริงจังก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทุกวันนี้โรค NCDs เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยสูงมากเนื่องจากการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ในข้อมูลจากผลสำรวจ ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้รวบรวมปัญหาหลายๆด้านออกมาเป็นข้อเสนอดังนี้ ข้อเสนอต่อผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดภาวะเลี่ยงเกิดโรค NCDs

ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ

1) เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร

2) ให้ผู้ประกอบการจัดทำฉลากให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนและตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่าย

ข้อเสนอต่อหน่วยงาน

1) ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในในผลิตภัณฑ์อาหาร

2) สนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจ

3) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการอ่านฉลาก

4) ผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา (สุขภาพดีแต่วัยเด็ก)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *