เมื่อ “ติดเชื้อโควิด-19” แต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย สามารถเข้าระบบรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ เมื่อยืนยันการเข้าระบบเรียบร้อยแล้ว สิ่งถัดมาคือการเตรียม “ยา” และอุปกรณ์จำเป็นไว้ใกล้ตัว แล้วยาชนิดไหนบ้างที่ต้องมี? แล้วผู้ติดเชื้อ Covid-19 ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคนไหม?
เนื่องจากไวรัสปรับตัวเร็วมีหลายสายพันธุ์ ถ้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟุ่มเฟือย โดยไม่มีข้อบ่งชี้อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ทำให้ไม่มียารักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นได้ นอกจากนี้ มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด รวมทั้งมีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรกิน ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือ ยาที่มีผลต่อตับ ยาฟาวิพิราเวียร์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยา การใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์ และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่จะตามมาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์
จากส่วนใหญ่ผู้ป่วยโควิดอยู่ในกลุ่มไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ดังนั้นจึงสามารถเข้าระบบการรักษาที่บ้านแบบ Home Isolation ได้ ซึ่งผู้ป่วยที่แยกกักตัวควรเตรียม “ยา” พื้นฐานโดยไม่ต้องรอยาจากระบบส่วนกลาง ที่อาจใช้เวลานานกว่าจะส่งมาถึงบ้าน เบื้องต้นที่ควรจะมีติดบ้านไว้ คือ ยาในกลุ่มรักษาตามอาการ หรือยาเพื่อบรรเทาอาการของโรค เพื่อช่วยบรรเทาอาการจากโควิดในกลุ่มที่มีอาการน้อย
1. ยาประจำตัว สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรวางแผนเรื่องของยาประจำตัว เช่น ยาโรคเบาหวาน ยาโรคความดัน ยาโรคไต ยาโรคมะเร็ง ฯลฯ ต้องให้มียาทานต่อเนื่อง 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทางไปโรงพยาบาล และลดการกำเริบของโรคประจำตัวที่มี
2. ยาพาราเซตามอล โดยให้กินยาพาราเซตามอลทันทีเมื่อมีไข้ หรือมีไข้สูงเกิน 37 องศาเซลเซียส เนื่องจากอาการโควิด-19 ทำให้มีไข้สูง จึงอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ร่างกายอ่อนเพลีย หรือร่างกายขาดน้ำ จึงควรกินยาลดไข้พร้อมดื่มน้ำมากๆ
ไม่แนะนำยาแอสไพริน : เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง ไปเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการ “ตับอักเสบ” มากขึ้นได้
3. ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาช่วยบรรเทาอาการโควิดที่ไม่รุนแรง แต่ไม่ได้ช่วยรักษาโควิด-19 ได้โดยตรงโดยแพทย์แนะนำให้ใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เมื่อเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก กรมการแพทย์แผนไทย ให้คำแนะนำวิธีรับประทานที่ถูกต้องไว้ว่า ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่ระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ เท่านั้น โดยขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ (น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป) คือต้องกินให้ได้สาร “แอนโดรกราโฟไลด์” 180 มิลลิกรัม(มก.)ต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร รับประทานเป็นเวลา 5 วัน ยกตัวอย่างเช่น
✅ กรณีฉลากยาสารสกัด ระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 20 มก.ต่อแคปซูล ให้กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
✅ กรณีฉลากยาสารสกัด ระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่น้อยกว่า 12 มก.ต่อแคปซูล ให้กินครั้งละ 5 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
✅ กรณียาผงบดฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ที่ระบุว่ามี “สารแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่น้อยกว่า 2%” (สำหรับขนาด 400 มก./แคปซูล เมื่อคำนวนเป็นปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์จะได้ไม่น้อยกว่า 8 มก./แคปซูล) ให้กินครั้งละ 7 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
4. ยาแก้ไอแบบเม็ด ที่มีตัวยา Dextromethorphan หากผู้ป่วยโควิดมีอาการไอเยอะ สามารถกินยาแก้ไอได้ แต่ควรกินตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และกินเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีอาการปอดอักเสบเท่านั้น เนื่องจากสำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดอักเสบแล้ว หลายคนจะมีอาการไอมากกว่าปกติ รวมถึงมีเสมหะจำนวนมาก โดยร่างกายจะพยายามขับเสมหะออกมา ดังนั้น หากมีอาการปอดอักเสบแล้ว กินยาแก้ไอลักษณะนี้ จะเหมือนเป็นการไปกดอาการไอมากจนเกินไป ทำให้ร่างกายขับเสมหะออกมาตามธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดอันตรายตามมา
5. ยาลดน้ำมูก Chlorpheniramine หรือ CPM เป็นยาเพื่อช่วยลดน้ำมูก ลดเสมหะ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น สามารถบรรเทาอาการได้ แต่มีข้อควรระวัง คือ หากเป็นผู้ป่วยโรคไต หรือ โรคตับบางอย่าง ที่มีข้อห้ามในการใช้ ก็ต้องระมัดระวังและปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อ อีกทั้งยากลุ่มนี้ยังอาจทำให้มีอาการคอแห้ง ปากแห้ง หรือมีอาการง่วงซึมได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
6. ยาแก้แพ้ Fexofenadine เป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดน้ำมูก สามารถมีติดบ้านได้ แต่ให้ทานเท่าที่จำเป็น หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
7. ผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) สารที่ช่วยทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มพลังงาน เกลือแร่ และน้ำในร่างกาย รวมทั้งป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่จากอาการท้องเสีย หรือ อาเจียน เนื่องจากผู้ป่วยโควิดบางคนมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ดังนั้นจึงต้องมีผงเกลือแร่ติดบ้านไว้ ใช้บรรเทาอาการท้องเสีย ส่วนวิธีใช้คือ ให้ชงเกลือแร่ ORS ผสมน้ำต้มสุก น้ำสะอาด จิบเรื่อยๆ ทั้งวัน แต่มีข้อควรระวังคือ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
8. ยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ นอกจากนี้ อาจเตรียมหาซื้อยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างที่กักตัวและดูแลตัวเองในรูปแบบ Home Isolation เช่น ยาเม็ดลดกรด ลดจุกเสียดในท้อง, ยาธาตุน้ำแดง ลดอาการท้องอืด, ผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย, ยาระบายมะขามแขก, ยาแก้ไอน้ำดำ, ยาดมแก้วิงเวียน, ยาหม่อง ฯลฯ
9. อุปกรณ์จำเป็นระหว่างอยู่ Home Isolation ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่ผู้ป่วยโควิดควรมีติดบ้านไว้ และหมั่นนำมาใช้ตรวจเช็คร่างกายทุกวันตามแพทย์สั่ง (จะมีแพทย์/เจ้าหน้าที่ Video Call ติดตามอาการ 2 ครั้ง/วัน) ได้แก่
✅ ปรอทวัดไข้ : วัดในช่วงเช้าและเย็น อุณหภูมิร่างกายไม่ควรเกิน 37.5 องศาเซลเซียส และสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ถ้ามีอาการไอหนักกว่าเดิม เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก ต้องรีบแจ้งทีมแพทย์
✅ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด : ใช้หนีบบริเวณปลายนิ้ว เพื่ออ่านค่าออกซิเจนเบื้องต้นของร่างกาย โดยค่าปกติของออกซิเจนในเลือดทั่วไปจะต้องมากกว่า 95% ถ้าค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95 ต้องรีบแจ้งทีมแพทย์
✅ เจลลดไข้ : ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก/เด็กเล็ก ติดโควิด-19