คาด ไม้ผลภาคใต้ผลผลิตลดลงกว่า 30% กระทบจากฝนตกต่อเนื่องช่วงติดดอกติดผล

คาดผลไม้ภาคใต้ผลผลิตลดลงกว่า 30 % กระทบจากฝนต่อเนื่องช่วงติดดอกติดผล

คุณอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้สัมภาษณ์
ในรายการแลบ้านแลเมืองเมื่อวันที่  23 พ.ค.2565 ว่าจากการประชุมจัดทำข้อมูลปริมาณไม้ผลภาคใต้ครั้งที่ 2 คาดการณ์ว่าภาพรวมผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ลดลงประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผลกระทบจากฝนตกต่อเนื่องช่วงติดดอกติดผล ลองกองลดมากที่สุดประมาณร้อยละ 82

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่า ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกไม้ผลรวม 4 ชนิด คือ เงาะ มังคุด ทุเรียนและลองกอง 1,108,655 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 2 โดยปี 2564 พื้นที่ปลูกรวม 1,082,795 ไร่ ถ้าแยกตามชนิดผลไม้พบว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ลองกองลดลง 8 เปอร์เซ็นต์ เงาะลดลง 4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมังคุดลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ ด้านปริมาณผลผลิตเฉลี่ยรวมของภาคใต้ในปีนี้ คาดการณ์อยู่ที่ 574,026 ตัน ลดลงกว่าปี 2564 ประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นปริมาณทุเรียน 465,959 ตัน(ลดลง 19 เปอร์เซ็นต์) เงาะ 41,858 ตัน (ลดลง 36 เปอร์เซ็นต์) มังคุด 59,659 ตัน (ลดลง 63 เปอร์เซ็นต์ )และลองกอง 6,550 ตัน( ลดลง 82 เปอร์เซ็นต์)  คุณอนุชากล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณผลไม้ภาคใต้ออกน้อยกว่าปีที่แล้วเพราะฝนตกชุกช่วยติดดอกติดผล แต่ทุเรียนของจังหวัดภาคใต้ตอนบน เช่น ชุมพร อาจกระทบไม่มาก เพราะติดผลก่อนช่วงเวลาฝนตกชุกต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปริมาณมังคุดโซนจังหวัดอันดามันที่อาจลดลงไม่มากนัก เพราะติดดอกก่อน และผลผลิตออกตลาดช่วงคาบเกี่ยวกับมังคุดภาคตะวันออก

คุณอนุชากล่าวทิ้งท้ายว่าปริมาณผลไม้ภาคใต้น้อยลงในปีนี้อาจทำให้เกษตรกรขายผลไม้ได้ราคาดี แต่อีกปัจจัยสำคัญของการกำหนดราคาคือคุณภาพ การผลิตผลไม้คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรต้องคำนึงถึงอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *