ประเด็นถกเถียงจากข้อเสนอเปลี่ยนชื่อ ‘ทะเลสาบสงขลา’ เป็น ‘ไทยลากูน’ เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 หลัง ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการในพื้นที่ต่อกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และปิดท้ายด้วยข้อเสนอเปลี่ยนชื่อ
ท่ามกลางการถกเถียงที่ยังมองไม่เห็นบทสรุป ‘สถานีวิทยุ ม.อ.’ ชวนย้อนสรุปประเด็นหลายข้อถกเถียงจากเรื่องชื่อ ไปสู่องค์ความรู้ต่อพื้นที่จนถึงคำถามใหญ่อย่างวิถีชีวิตบนฐานทรัพยากร และอนาคตของภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศ
ทะเลสาบ (Lake) กับ ลากูน (Lagoon) ต่างกันอย่างไร?
ข้อมูลทั่วไปที่มักจะค้นหาได้ทั่วไปอธิบายพื้นที่ “ทะเลสาบสงขลา” ในปัจจุบันว่าเป็นแหล่งน้ำประเภท “ลากูน (Lagoon)” ขนาดใหญ่ หากดูที่มาการใช้คำแล้ว รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ อธิบายในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า “ทะเลสาบ” เป็นคำยืมจากภาษาเขมร หมายถึง “ทะเลน้ำจืด” หรือหากดูคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ทะเลสาบจะเป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยก็ได้ แต่เป็นทะเลปิดที่อิทธิพลของทะเลไม่ได้มีมากเท่ากับลากูน
‘ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์’ เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย อธิบายคำจำกัดความของ ‘ลากูน’ ในรายการ ‘สภากาแฟ’ ไว้ว่าต้องเป็นพื้นที่ซึ่งแยกออกจากทะเลใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่เชื่อมกับทะเล ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะมีอิทธิพลของน้ำขึ้น-น้ำลง ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) และค่าความเค็มของน้ำที่จะผันแปรไปตามแต่ละฤดูกาล
ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยยังกล่าวเพิ่มเติมถึงคุณลักษณะพิเศษของ ‘ลากูน’ เมื่อเทียบกับทะเลสาบ ว่า “ระบบนิเวศของทะเลสาบไม่มีการไหลทวนขึ้น แต่ลากูนจะมีการไหลทวนขึ้นของน้ำเค็มตั้งแต่เกาะยอ ปากพะยูน เขาชัยสน ถึงทะเลน้อย”
‘สนธยา’ กล่าวถึงเอกลักษณ์ของลากูนที่มีการไหลลงของน้ำจืดจากต้นน้ำสลับกับการดันขึ้นของน้ำเค็มจากทะเลนี้ว่าเปรียบเหมือนการชักเย่อของสองชนิดน้ำที่แตกต่างด้านคุณสมบัติ
และหากยึดตามคำอธิบาย ดังกล่าว ‘ลากูน’ แห่งนี้ก็คือแหล่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ตั้งแต่ทะเลน้อย ต่อมายังทะเลหลวงจนจดทะเลสาบสงขลาตอนล่าง โดยมีจุดเชื่อมใหญ่กับอ่าวไทยเป็นปากทะเลสาบ ที่ตั้งอยู่ระหว่าง อ.สิงหนคร กับ อ.เมืองสงขลา ในปัจจุบัน
หรือชื่อเรียกอาจไม่สำคัญเท่าความเข้าใจ?
แม้ว่าการใช้คำหรือชื่อเรียกจะมีบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ หรือความคุ้นชินที่ยึดโยงกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์และวัฒนธรรม เช่น ‘ทะเลสาบพัทลุง’ หรือคนสงขลาก็จะเรียกว่า ‘ทะเลสาบสงขลา’ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียกชื่อที่ปรับให้ถูกต้องตรงตาม ข้อเท็จจริงทางวิชาการ จะสามารถสร้างความรับรู้ที่ นำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องได้
‘เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์’ ยังยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทะเลน้อยซึ่งเป็นส่วนบนของ ‘ลากูน’ ที่คำอธิบายเดิมมักกล่าวว่าทะเลน้อยเป็นทะเลสาบ ‘น้ำจืด’ ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ ทะเลน้อยมีคลองที่เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับทะเลหลวงถึง 3 สายส่งผลให้ความเค็มแพร่ขึ้นมาถึงในบางฤดูกาล เช่น ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงน้ำแล้ง ผนวกกับที่น้ำจืดจากป่าต้นน้ำ จนเกิดเป็นน้ำกร่อย หรืออาจมีภาวะที่คนในพื้นที่เรียกว่า “น้ำหวาน” ซึ่งเกิดจากน้ำเปรี้ยวจากความเป็นกรดของดินในป่าพรุกับน้ำจืดจากต้นน้ำผสมกัน เป็นต้น
ดังนั้น ความเข้าใจว่าพื้นที่ทะเลน้อยเป็นแหล่งน้ำที่เป็น ‘น้ำจืดแต่เพียงอย่างเดียว’ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จึงส่งผลทั้งต่อการส่งเสริมปลูกพืชและการเกษตรเชิงพาณิชย์ตลอดจนความหลากหลายทางนิเวศและวิถีชีวิต รวมถึงปากท้องผู้คน เนื่องจากตัวความเข้าใจเหล่านี้คือต้นทางของนโยบายที่จะถูกนำมาใช้จัดการและจัดสรรออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเวลาต่อมาอย่างไม่อาจปฏิเสธ
เชื่อมถึงภาพใหญ่
รายงานจาก ThaiPBS ชี้ว่าช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ทะเลน้อยเกิดปัญหาวัชพืชในพื้นที่ซึ่งส่งผลต่อแหล่งอาหารในระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) และพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน จนถึงต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณรัฐเพื่อแก้ปัญหาอีกต่อหนึ่ง
“จากทะเลน้อยลึก 12 เมตรเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ทุกวันนี้ลึก 2 เมตร พอเป็นน้ำจืดพืชน้ำเติบโตได้รวดเร็ว ซากพืชจะตายและทับถมทำให้ทะเลตื้นเขิน เป็นผลจากระบบนิเวศถูกเปลี่ยนเป็นน้ำจืด” เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยกล่าว
ที่มาของปัญหาและวิธีการแก้ไขจึงไม่ใช่แค่จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นการเชื่อมโยงถึงกันในระบบนิเวศและพื้นที่ลากูนนี้ ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ จนถึง ปลายทางสู่ทะเล
“ถ้าเรายังมีการจัดการที่เป็นแบบนี้ต่อไป อนาคตของทะเลสาบสงขลาจะไม่ตอบโจทย์การเป็นฐานทรัพยากรดำรงชีวิตรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน”
ข้อสังเกตกึ่งคำเตือนจาก ‘สนธยา แก้วขำ’ ในรายการ ‘สภากาแฟ’ คงชวนให้ข้อถกเถียงนี้ขยายไปมากกว่าเรื่องชื่อ แต่สัมพันธ์ถึงธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คน
ชมรายการ ‘สภากาแฟ’ – ‘ทะเลสาบสงขลา-ไทยลากูน: ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้’
แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน
โครงการการจัดทำเอกสารประมวลผลงานเกี่ยวกับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ – https://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2553/4589
บทความ ‘ควายน้ำกับอนาคตลุ่มน้ำทะเลน้อย’ – https://thecitizen.plus/node/63475
อ่านต่อ
“ไข่ครอบสงขลา”เตรียมขึ้นทะเบียน GI เป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
วิกฤต ‘หญ้าทะเล’ หายผืนใหญ่ ขาดแหล่งอาหาร-อนุบาลสัตว์ กักคาร์บอน