รู้จัก ‘ดัชนีความร้อน’ เหตุผลรู้สึกร้อนเกินกว่าอุณหภูมิอากาศที่วัดได้

เคยสงสัยหรือไม่ ว่าหลายครั้ง เรารู้สึกร้อนอบอ้าวมากกว่าความรู้สึกของอุณหภูมิของอากาศที่ควรเป็นตามค่าที่วัดได้ ไม่ว่าจากทั้งเทอร์โมมิเตอร์ใกล้ตัว หรือพยากรณ์อากาศ

แม้ ‘ความรู้สึก’ ร้อนเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ทั้งร่างกาย ผิวหนัง หรือระบบไหลเวียนเลือด จนถึง การแต่งตัว สภาพอากาศ ความชื้น ความแรงลม และการสัมผัสแสงแดดในแต่ละช่วงเวลา แต่จะมีค่าที่นำอุณหภูมิของอากาศและปัจจัยอื่นไปคำนวณเพื่อบอกเราคร่าวๆ ได้ว่าอุณหภูมิในช่วงเวลานั้นเราสัมผัสได้จริงนั้นอยู่ที่เท่าไร นั่นคือ ‘ดัชนีความร้อน’ หรือ Heat Index (HI)

‘PSU Broadcast’ ชวนทำความรู้จักค่าดัชนีความร้อนนี้ ว่าสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงควรสนใจไม่แพ้ไปกว่าอุณหภูมิของอากาศ จากบทสนทนากับ ผศ.ดร. ธรรมรัตน์ พนิชยากุล อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในรายการ ‘แลบ้าน แลเมือง’

ดัชนีความร้อน ต่างจาก อุณหภูมิทั่วไปอย่างไร?

ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index (HI) คืออุณหภูมิที่ “รู้สึก” ได้ในขณะนั้น (real-feel temperature) ว่าอากาศเป็นอย่างไร ตามอุณหภูมิและค่าความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งจะแตกต่างจากค่าอุณหภูมิทั่วไปที่จะวัดค่าความร้อนในพื้นที่นั้นๆ 

ตัวแปรสำคัญของ ดัชนีความร้อน คือ ‘ความชื้นสัมพัทธ์’ ในอากาศที่ทำให้การรับรู้อุณหภูมิของร่างกายแตกต่างกันไปแม้จะวัดอุณหภูมิได้ค่าเดียวกันก็ตาม 

ความชื้นสัมพัทธ์ คือ ความชื้นที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ และโดยทั่วไป เมื่อร่างกายเรามีความร้อนภายใน หนึ่งในกลไกที่ระบายความร้อนออกจากร่างกายคือเหงื่อ เมื่อในสภาพอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูง การระบายเหงื่อของร่างกายจะทำได้ยากขึ้น และความร้อนจะถูกกับเก็บอยู่ในบริเวณผิวหนังของร่างกาย ส่งผลต่อความรู้สึกไม่สบายตัว 

“สมมติว่าอุณหภูมิประมาณ 33-34 องศาเซลเซียส ถ้าความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ราว 30-40% เราจะรู้สึกไม่ต่างจากอุณหภูมิ 33-34 องศาฯ แต่ถ้าความชื้นสัมพัทธ์กระโดดไปราว 60% ความรู้สึกร้อนจริงๆ จะทะลุไปถึง 43-44 องศาฯ ได้เลย ถ้าเราดูอุณหภูมิอย่างเดียวจะไม่เพียงพอ” ผศ.ดร. ธรรมรัตน์กล่าว

การคำนวณค่าดัชนีความร้อนตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น จะได้ค่าเป็น อุณหภูมิองศาเซลเซียส (หรือหน่วยบอกอุณหภูมิอื่น เช่น ฟาเรนไฮต์) เช่นเดียวกับอุณหภูมิปกติ 

ความสำคัญของค่าดัชนีความร้อน

กรมอุตุนิยมวิทยามีการเผยแพร่ข้อมูลค่าพยากรณ์ดัชนีความร้อนล่วงหน้า 10 วัน ตามเวลา 07:00 น., 10:00 น., 13:00 น. และ 16:00 น. และแบ่งระดับการเตือนภัยจากความร้อนเป็น 4 ระดับตามผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เฝ้าระวัง (Caution) เตือนภัย (Extreme Caution) อันตราย (Danger) อันตรายมาก (Extreme Danger) ตามการแบ่งระดับจากกรมอนามัย

ภาพ: กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปตามข้อมูลของกรมอนามัย

ผศ.ดร.ธรรมรัตน์กล่าวว่าหลายประเทศที่เผชิญเหตุภัยร้อนหรือคลื่นความร้อน (Heat wave) จะมีการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อนในพื้นที่สาธารณะเพื่อเตรียมมาตรการรับมือ ในประเทศไทยมีให้เห็นเช่น ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เป็นต้น

ปัจจัยกระตุ้นค่าดัชนีความร้อน

นอกเหนือจากปัจจัยที่มีส่วนต่อความร้อนและความชื้นในชั้นบรรยากาศ เช่น ลม ฝน หรือฤดูกาลแล้ว ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงปี 2567 นี้คือ เอลนิโญ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่อุณภูมิของน้ำทะเลบริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นกว่าปกติ และทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มการเกิดฝนน้อยกว่าปกติ และส่งผลต่อการคลายความร้อนในแต่ละพื้นที่อีกต่อหนึ่ง 

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกันคือสถานการณ์ที่อากาศปิด ซึ่งจะส่งผลให้ความหนาแน่นของทั้งความชื้นสัมพัทธ์ และค่าฝุ่น PM2.5 สะสมและระบายออกได้ยากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นบริเวณกรุงเทพมหานคร หรือหลายจังหวัดในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

สามารถดูค่าดัชนีความร้อน และพยากรณ์ดัชนีความร้อนล่วงหน้า 10 วัน ได้ที่เว็บไซต์กรมอุตินิยมวิทยา


อ่านต่อ

PSU I SEE – อากาศร้อนเสี่ยงฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง 

อาหาร-พฤติกรรม-การนอน คำแนะนำจากแพทย์แผนไทย วิธีดูแลร่างกายช่วงหน้าร้อน

สรุปเสวนา “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *