ศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ม.อ. ต่อยอดนวัตกรรมเรือไฟฟ้า แก้โจทย์ชุมชน

ผศ. สาวิตร์ ตัณฑนุช  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU EV) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘แลบ้าน แลเมือง’ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ถึงการต่อยอดนวัตกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าของ PSU EV เพื่อร่วมมือกับภาคธุรกิจผ่านกลไกร่วมทุนบริษัทเอกชนของบริษัท PSU Holding จำกัด หวังเพิ่มจำนวนผลผลิต ขยายผลนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษา 

ผศ.สาวิตร์ กล่าวว่า ทางศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้านั้น เดิมมีองค์ความรู้และนวัตกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากการร่วมมือพัฒนางานวิจัยกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปเป็นไฟฟ้า แต่ยังขาดองค์ความรู้ด้านการตลาดและการขยายกำลังการผลิต จึงเห็นความจำเป็นของการต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวในเชิงพาณิชย์เพื่อขยายผลงานวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัย

ผศ. สาวิตร์ ตัณฑนุช (ภาพ: PSU EV)

ผศ.สาวิตร์เล่าเบื้องหลังการทำงานพัฒนาเรือไฟฟ้าร่วมกับชุมชนและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวว่า จุดเด่นด้านหนึ่งของเรือไฟฟ้าคือมีเสียงเบา และ ไม่มีปริมาณการปล่อยมลพิษขณะใช้งาน ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวเห็นความสำคัญ 

“เราไปทดสอบและแสดงให้หน่วยงานธุรกิจ เช่น หอการค้าจังหวัดชุมพร หอการค้าจังหวัดระนอง วิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ดูรายละเอียดว่าเรือมีศักยภาพ ทำงานได้ หอการค้าจะเป็นคนช่วยประสานกับนักธุรกิจเพื่อมาลงทุนกับผู้ร่วมทุน เช่น มีฐานการผลิตเดิม หรือ ผู้สนใจผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เราถ่ายทอดเทคโนโลยี และทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน”

อย่างไรก็ตามเมื่อมีความต้องการจำนวนมาก ทางศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านนี้เพราะข้อจำกัดการดำเนินงาน ทั้งกำลังการผลิตและเงินทุนเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลของการผลักดันการร่วมทุนผ่านบริษัท PSU Holding

“เราต้องยอมรับตรงๆ ว่าเราเก่งเชิงเทคนิคแต่ไม่เก่งด้านการตลาด คนในพื้นที่จะรู้ดีกว่าเราว่าตลาดเป็นอย่างไร ตกแต่ง ออกแบบเรือเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างไร” ผู้อำนวยการ PSU EV กล่าว

นอกจากเป้าหมายร่วมทุนกับบริษัทเอกชนตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว ผศ.สาวิตร์เผยว่ายังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับอาจารย์และนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพ เช่นในจังหวัดพัทลุงและสตูลอีกเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทพี เอส ยู โฮลดิ้ง (PSU Holding) จำกัด เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งภายใต้การเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากข้อมูลของเว็บไซต์ dataforthai ระบุว่าจดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท 

ผศ.ดร. จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าวในงาน SITE2024 ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุถึงจุดประสงค์การตั้งบริษัท PSU Holding ว่าเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่อยอดสู่สังคมและสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมระบุแนวคิด 3 ข้อของการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน ดังนี้

หนึ่ง ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และสาธารณประโยชน์

สอง สร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชน

สาม สร้างธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่ ร่วมกับบธุรกิจรายเล็ก-กลาง

ภาพปก: PSU EV


อ่านต่อ

ดาราศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์สู่การพัฒนากายอุปกรณ์

“ผ้าลีมาบาติก” ผ้าทอโบราณของจังหวัดชายแดนใต้

 ‘ยางพาราเทอร์โมพลาสติก’ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายาง แก้ปัญหาขยะพลาสติก

โพสต์ไว้ที่: News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *