ดันสงขลา เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ชูพหุวัฒนธรรม-ทะเลสาบสงขลา ปักหมุดบนเครือข่าย UNESCO

ผศ.ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการอาเซียน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ในนามคณะกรรมการทำงาน) ให้สัมภาษณ์กับ ‘PSU Broadcast’ ถึงความคืบหน้าการผลักดันจังหวัดสงขลา สู่การเป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN – UNESCO Creative Cities Network) ด้านอาหาร (gastronomy) ในรายการแลบ้าน แลเมือง เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.สุพัตรา ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานระดับจังหวัด เผยว่าขณะนี้ขั้นตอนการผลักดันอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลด้านลักษณะเด่นของจังหวัด เครือข่ายองค์กรภาครัฐ-เอกชน และเครือข่ายสถาบันการศึกษา รวมถึงแผนพัฒนาเมืองด้านอาหารในระยะ 4 ปี เป็นส่วนหนึ่งของใบสมัครเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการระดับประเทศพิจารณาต่อไป ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2567  ก่อนยูเนสโกจะเปิดให้เสนอชื่ออย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยว่าลักษณะเด้นหลักที่จะนำเสนอต่อทางคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเสนอต่อ UNESCO ต่อไปคือ ความเป็นพหุวัฒนธรรม และ จุดเด่นด้านทรัพยากรทางธรรมชาติของทะเลสาบสงขลาและวัฒนธรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งแสดงออกผ่านวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่ 

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างเมืองเครือข่ายเป็นฐานพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 295 เมือง ใน 90 ประเทศทั่วโลก

เมืองสร้างสรรค์ตามการจำแนกของยูเนสโกแบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่

  • หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art)
  • การออกแบบ (Design)
  • ภาพยนตร์ (Film)
  • อาหาร (Gastronomy)
  • วรรณกรรม (Literature)
  • สื่อศิลปะ (Media Arts)
  • ดนตรี (Music) 

ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระบุว่าในประเทศไทยมีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ 

  • เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร – จังหวัดภูเก็ต (ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2558) และ จังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ. 2564)
  • เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน – จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2560) และ จังหวัดสุโขทัย (พ.ศ. 2562)
  • เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ – กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2562)

ผศ.ดร.สุพัตราเผยว่าในส่วนคณะทำงานจังหวัดสงขลานั้น ได้ตั้งเครือข่ายคณะทำงานเพื่อผลักดันขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย

  • คณะกรรมการอำนวยการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน
  • คณะทำงานนวัตกรรมอาหาร จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลาเป็นประธาน
  • คณะทำงานจัดทำใบสมัครและติดต่อประสานงานทั่วไป มี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาเป็นประธาน
  • คณะทำงานเวทีนานาชาติเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน และ มีรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นรองประธานคณะทำงาน

ผศ.ดร.สุพัตราเผยว่า ตนมองว่าการผลักดันสงขลาเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโกนี้จะเป็นทั้งเครื่องมือการประชาสัมพันธ์ความโดดเด่นของจังหวัดสงขลา และเป็นโอกาสต่อยอดความโดดเด่นทางวัฒนธรรม สังคม ทรัพยากรและเศรษฐกิจของจังหวัดต่อไป 

“คนทั้งโลกจะรู้จักเมืองสงขลา UNESCO จะเป็นเหมือนกระบอกเสียง สปอตไลท์ส่องมาที่สงขลา และจะมีเครือข่ายด้านอาหาร 57 เมืองทั่วโลก เราได้ทั้งโอกาสที่จะขึ้นอยู่กับเราว่าจะต่อยอดด้านอื่นอย่างไร เป็นเครื่องมือของการพัฒนาต่อไป” ผศ.ดร.สุพัตรากล่าว

เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพปก: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

อ้างอิง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)


อ่านต่อ

อพท.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก Thailand Creative Cities Network:TCCN 2023

สงขลา ตั้งเป้า “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหารของยูเนสโก” (UNESCO Creative Cities Network-UCCN) เตรียมยื่นพิจารณาปี68

โพสต์ไว้ที่: News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *