เพจ Voice of Padang besar พื้นที่ส่งเสียงคนปาดังฯ วาดอนาคตเมืองชายแดน

‘เมืองปาดังฯ’ หรือ เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ เป็นพื้นที่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งอยู่ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  ย้อนกลับไปราว 20-30 ปีก่อน ปาดังเบซาร์เคยเป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าชายแดนสำคัญของภาคใต้ มีผู้คนจากต่างพื้นที่เข้ามาทำมาค้าขายอย่างคึกคักเป็นจำนวนมาก 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้นักแสวงโชคในยุคโน้นส่วนมากจะมองปาดังฯ เป็นหนึ่งในแหล่งหาเงินเพื่อส่งกลับบ้าน แต่ก็มีผู้คนต่างถิ่นจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจตั้งรกราก ลงหลักปักฐานจนกลายเป็น ‘บ้าน’ อีกหนึ่งหลัง และกลายเป็น ‘คนปาดังฯ’ อีกคนหนึ่งในที่สุด 

แต่ด้วยความเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นทั้งมิตรสหาย คู่ค้าและคู่แข่งอยู่ในตัว นโยบายชายแดนที่ไม่ได้เชื่อมประสานอย่างสอดคล้องสมดุลในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ปาดังเบซาร์ถดถอยจากจุดรุ่งโรจน์ให้คล้อยต่ำลงสู่ภาวะโรยรา  และยังตอกย้ำด้วยข่าวสารเรื่องการผลักดันโครงการมอเตอร์เวย์จากหาดใหญ่-มาเลเซีย หลังสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่แล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ซึ่งหากสำเร็จจะเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เข้ากับมาเลเซีย โดยไม่ผ่านพื้นที่ปาดังเบซาร์ 

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ใคร ๆ คาดการณ์ไปได้ว่า ยิ่งกาลเวลาเคลื่อนไปข้างหน้ามากเท่าไร เมืองชายแดนแห่งนี้ก็จะยิ่งถูกลดขนาดในแผนที่ทางเศรษฐกิจและสังคมลงไปมากเท่านั้น

เพจ Voice of Padang besar เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะทำให้เสียงของผู้คนในปาดังเบซาร์ท่ามกลางบริบทความเปลี่ยนแปลงนี้ถูกส่งกระจายสู่สังคมวงกว้าง  ชวน ‘คนปาดังฯ ’ มาย้อนมองอดีตด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองของพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อส่งเสียงกำหนดอนาคตอย่างมีความหวังต่อทั้งสังคมและผู้กำหนดนโยบายในเมืองชายแดนขนาด 12 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้

‘PSU Broadcast’ พูดคุยกับ ‘คอลดูน ปาลาเร่’ และ ‘อภิศักดิ์ ทัศนี’ สองผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของเพจ ‘Voice of Padang besar’ ถึงมุมมองต่อพื้นที่ แรงบันดาลใจของการทำ ‘สื่อ’ ท้องถิ่นนี้ และภาพหวังของปาดังเบซาร์ที่ตนอยากเห็น

ที่มาการทำเพจ Voice of Padang besar เป็นอย่างไร 

คอลดูน: ผมเกิดที่ปาดังเบซาร์ มีโอกาสเห็นช่วงปลายของความรุ่งเรืองซึ่งมีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามาแวะเวียน  หลังจากเห็นสิ่งนี้ในช่วงวัยเด็ก เราได้เห็นพัฒนาการของเมืองอีกมิติหนึ่งคือความซบเซา

ผมเกิดไม่ทันยุคประตูขาวแดง (ช่องทางเข้าออกไทย-มาเลเซีย ก่อนด่านศุลกากรปาดังเบซาร์) ซึ่งปิดไปเมื่อปี พ.ศ. 2531 แต่หลังจากปิดไปแล้วก็ยังมีคนมาค้าขายกันอยู่ เราเคยเห็นรถบัสทั้งจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือแม่สอด มาเที่ยว มาซื้อของที่นี่ ได้เห็นความครึกครื้นที่มีคนมาจับจ่ายใช้สอย 

ภาพจำในวัยเด็กของเรา ช่วง 17-18 ปีมาแล้ว สมัยประถมศึกษา เราได้เงินไปโรงเรียนเยอะ ประมาณ 40-50 บาท แต่พอโตขึ้นก็เห็นว่ากำลังทรัพย์ของพ่อแม่เราน้อยลง อีกตัวชี้วัดสำคัญคือวันฮารีรายอ (วันขึ้นปีใหม่ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม) ตอนเด็กเราได้แบงก์ร้อย หรือสูงสุดคือห้าร้อย แต่หลังจากซบเซาก็เริ่มเปลี่ยนเป็นแบงก์ห้าสิบ ยี่สิบ นี่คือภาพจำวัยเด็กของเราที่มีต่อปาดังเบซาร์

ตัวแปรสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงในปาดังฯ ล้วนบ่นเป็นเสียงเดียวกันเรื่องนี้ จากเดิมที่เคยหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบาย ปัจจุบันบางคนต้องทำสามถึงสี่งานเพื่อประทังชีวิต ผมอยากนำเสนอปัญหาในชีวิตประจำวันของคนรากหญ้า อาจจะพูดภาษาชาวบ้าน แต่เราคิดว่าเป็นการสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา 

อีกมิติหนึ่งของปาดังเบซาร์คือเป็นเมืองที่รวบรวมผู้คนจากหลากหลายแห่งร่วมกัน ถ้านับคนที่เกิดในปาดังเบซาร์จริงๆ ณ ปัจจุบัน นับรุ่นพ่อแม่รวมกันน่าจะไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะคนส่วนใหญ่ที่นี่มาจากที่อื่น ยุคแรกคือคนเชื้อสายจีน ยุคที่สองจากจะนะและพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ยุคที่สามจากเชียงใหม่ แม่สาย จ.แม่ฮ่องสอน มาทำอาชีพค้าขาย สำเร็จก็ลงหลักปักฐาน ล้มเหลวก็กลับบ้านหรือกลับมาใหม่

เราคุยกับน้ำนิ่ง (อภิศักดิ์ ทัศนี) ผู้ก่อตั้งเพจ Beach For Life ชวนมาเที่ยวและไปคุยกับผู้คนในปาดังฯ แต่ละคนมีเรื่องราวน่าสนใจ เวลาเราไปถามผู้ใหญ่ที่เข้ามาทำมาหากินที่ปาดังเบซาร์ เขามักจะพูดด้วยแววตามีประกาย เห็นความหวัง เลยคิดว่าควรทำเพจเพื่อสื่อสารเรื่องราวของคนที่สร้างปาดังฯ ขึ้นมา

‘ปาดังเบซาร์’ สำหรับทั้งสองคนเป็นอย่างไร

อภิศักดิ์: ปาดังเบซาร์สำหรับผมเหมือนเป็นทางผ่านไปปีนัง (รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย) ถ้ามาจากหาดใหญ่เราจะถึงด่านก่อน ก่อนเกิดโควิด-19 เราเคยข้ามสะพานไปขึ้นรถไฟที่ฝั่งประเทศมาเลเซีย ชื่อสถานีปาดังเบซาร์เหมือนกัน ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงชื่อเดียวกัน

อีกภาพจำของผมคือปาดังเบซาร์เป็นเมืองชายแดน มักจะเกี่ยวข้องกับสินค้าหนีภาษี แต่เราจะชอบวัฒนธรรม ความหลากหลายของอาหารการกิน เรารู้สึกว่าเมืองมันเงียบจนสงสัยสิ่งที่หลายคนพูดถึงความรุ่งเรืองในอดีต บทเพลง ‘ปาดังเบซาร์’ ของจ๊อบ บรรจบ หรือ เพลง ‘ผีเสื้อ’ ของวงแฮมเมอร์ เรานึกภาพแบบนั้นไม่ออก

แต่หลังจากเราตระเวนคุยกับคนในปาดังฯ ผมคิดว่าความพิเศษคือที่นี่มีคนหลากหลายที่ใฝ่ฝันสร้างเนื้อสร้างตัว คุยกับคนนึงมาจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บอกว่าฝันอยากมีบ้านสักหลัง ก็จะมาปาดังฯ เพื่อสร้างบ้าน ตอนนี้มีหลายหลังเลย

คอนดูล: ปาดังเบซาร์มีสองที่ คือ ฝั่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียและฝั่งประเทศไทย จริงๆ มันคือปาดังเบซาร์เดียวกัน ก่อนจะมีคำว่า ‘รัฐชาติ’ หรือกำแพงแบ่งเขตแดน ผู้คนไหลเวียนไปมาหากัน เหมือนคนจีนที่นี่ซึ่งเป็นกลุ่มบุกเบิกปาดังเบซาร์จะมีญาติพี่น้องในฝั่งเปอร์ลิส

ผมมองว่าคนปาดังเบซาร์ไม่ได้เพียงดูจากบัตรประชาชน แต่เป็นพื้นที่ซึ่งคนหมุนเวียนเข้าออก เราคุยกับคนที่มาจากกรุงเทพฯ อายุ 50-60 ปีแล้ว เขาก็นิยามตัวเองว่าเป็นคนที่นี่

ผมชอบคำจำกัดความของพี่จ๊อบ บรรจบในเพลง ‘ปาดังเบซาร์’ ท่อนหนึ่งเขียนว่า “ปาดังเบซาร์ ความหวังใส่หลัง แบกขน ลักลอบ ดั้นด้น ปาดังเบซาร์” แกเขียนจากสิ่งที่เห็นในสมัยกองทัพมด (กลุ่มธุรกิจขายของเลี่ยงภาษี) 

หมายความว่าช่วงที่ยังรุ่งเรือง ผู้คนก็เข้ามาเพราะเห็นโอกาสการประกอบอาชีพและทางเศรษฐกิจ?

อภิศักดิ์: ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลยครับว่าเห็นโอกาส ผมคุยกับบังขายเบอร์เกอร์ร้านรถเข็น มาจากนครศรีธรรมราช ขายมาเกือบสามสิบปีแล้ว เขาเล่าว่าสมัยก่อนปาดังฯ เหมือนเป็นที่หอบเงิน หมายถึงแค่ข้ามไปฝั่งมาเลเซีย หิ้วอะไรกลับมาขายนิดหน่อยเพื่อมาขาย คุณก็ได้ส่วนต่างมากจนนิยามไม่ได้

เขาบอกว่าถึงขนาดหาเงินง่ายจนไม่รู้จะใช้ยังไง แค่เวลา 2-3 ชั่วโมงก็ทำเงินได้หลักพัน สมัยนั้นยังไม่มีการฝากเงิน ต้องซื้อทอง ซื้อรถ หรือเงินเหลือจนต้องไปเปิดโรงแรมนอนที่หาดใหญ่ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าพื้นที่นี้มอบโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวให้เขาได้

จากที่ฟังหลายคน บ้างก็รู้สึกเหมือนนกติดอ่างน้ำ ตอนที่มาทุกคนก็มาเพื่อหาโอกาส แต่จริงๆ ก็อยากจะกลับถิ่นฐานเดิม แต่เหมือนบังเอิญอยู่นานเกินไป คิดว่า เอาไงดีวะ ก็สร้างบ้านอยู่ที่นี่เสียเลย มันมีทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือการยอมรับทางสังคมในช่วงเวลานั้น ไม่ได้เป็นแค่มิติทางเศรษฐกิจ

คุณครูคนหนึ่งเปรียบปาดังเบซาร์เป็นเหมือน ‘มังกรซ่อนพยัคฆ์’ คนหนึ่งอยู่ในที่หนึ่งอาจเป็นหางราชสีห์ พอมาอยู่ที่นี่ก็เป็นคนพิเศษ ขยับบทบาททางสังคม ฐานะ หรือบทบาททางการเมือง 

ประวัติศาสตร์ของปาดังฯ ชัดมากว่าเป็นเมืองที่สร้างจากคนตัวเล็กตัวน้อย มีแม้กระทั่งอาคารที่สร้างไม่เสร็จแล้วแต่งเติมกันเยอะมาก เหมือนกับแต่ละคนจะสร้างของฉัน สุดท้ายก็กลายมาเป็นเมืองปาดังเบซาร์

คอนดูล: ผมเชื่อว่าความรู้สึกของคนที่นี่คละกัน  ถ้าพูดตามตรง ปัจจุบันปาดังเบซาร์เองก็ยังให้ความรู้สึกของการเป็นพื้นที่ขุดทอง ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกว่าที่ทำมาหากินคือบ้านตัวเอง คือมาขุดทอง ได้ผลกำไรกลับบ้าน กลุ่มคนที่มาลงหลักปักฐานมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่มารุ่นพวกผมที่รู้สึกว่าปาดังฯ คือบ้าน เพราะเราไม่ได้เกิดที่อื่นแม้พ่อแม่เราจะมาจากที่อื่น 

เกิดอะไรขึ้นที่ปาดังเบซาร์ตอนนี้ ทำไมความคึกคัก เจริญรุ่งเรืองถึงเริ่มกลายเป็นภาพอดีต

คอนดูล: ปาดังเบซาร์รุ่งเรืองช่วงปี พ.ศ. 2516-2531 ซึ่งทางการไทยเปิดประตูขาวแดง เป็นบริบทของการค้าชายแดน แต่หลังจากปิดประตูเมื่อปี พ.ศ. 2531 ทางฝั่งรัฐเปอร์ลิสสร้างตลาดคอมเพล็กซ์ขึ้นมาชื่ออาร์เก็ด เนียกา (Arked Niaga) บริบทการค้าจึงเปลี่ยนจาก ‘ชายแดน’ เป็น ‘ข้ามแดน’ 

เมื่อเกิดการค้าข้ามแดน คนไทยส่วนหนึ่งที่พอมีทุนก็ย้ายถิ่นฐานไปทำกินในฝั่งมาเลเซีย ไปเช้า เย็นกลับ ผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงนี้คือ จากยุคการค้าชายแดน คนมาเลเซียจะข้ามมาซื้อของฝั่งไทย แต่เมื่อมีตลาดอาร์เก็ด ทำให้คนมาเลเซียไหลเวียนมาน้อยลง ปัจจุบันตลาดก็ขยาย ทำให้ฝั่งไทยเสียโอกาสมากขึ้น

นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐไทยจะเน้นภาคส่วนโลจิสติกส์ (การบริหารจัดการและจัดส่งสินค้า) คนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้รับผลการการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐส่วนกลาง และบริบทของรัฐบาลท้องถิ่นไม่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจหรือสร้างโอกาสทางการค้า อำนาจเปิดปิดเขตแดนอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือกระทรวงการต่างประเทศซึ่งต้องเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ

อภิศักดิ์: ตอนนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดียวที่พยุงให้ปาดังฯ อยู่ได้คือคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรอไปทำงานที่มาเลเซีย ที่เขาเรียกกันว่า ‘แรงงานต้มยำ’ (แรงงานไทยซึ่งเข้าไปทำงานในร้านต้มยำกุ้งของประเทศมาเลเซีย) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่มาหมุนเวียนในปาดังฯ ทั้งค้าขาย จับจ่ายใช้สอย พักอาศัย ฯลฯ

คำพูดของคอนดูลที่เคยคุยกัน ว่านโยบายรัฐบ้านเราเหมือนเป็นเงินที่ลอยอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์แล้วข้ามหัวเราไป ระบบโลจิสติกส์เหมือนระบบสายพานของทุนใหญ่ ไม่ตกมาถึงชาวบ้านธรรมดา เลวร้ายไปกว่านั้น การค้าที่เปลี่ยนจากชายแดนเป็นข้ามแดน ทำให้มีแค่คนบางกลุ่มที่มีโอกาสทำการค้าเช่นนี้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทุกคนมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว

ถ้าให้มองในมุมนักท่องเที่ยว ปาดังฯ มีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าทำให้คนรู้สึกว่าก่อนจะไปมาเลเซียหรือเข้าหาดใหญ่ต้องมาแวะพักที่นี่ ต้องบอกคนภายนอกว่าปาดังฯ มีอะไรให้เข้ามาเรียนรู้ หรือสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินทาง ข้าวเนื้อแดง ข้าวเหนียวไก่ที่นี่ก็อร่อย (หัวเราะ)

จุดยืนของ Voice of Padang besar ในช่วงเวลาเช่นนี้อยู่ตรงไหน

คอนดูล: ธงสำคัญคือเล่าเรื่องราวของผู้คน แต่ในการพูดคุยแต่ละคนก็จะมีข้อเสนอ ข้อวิพากษ์ของตนแตกต่างกันไป เราคาดหวังว่าเสียงผู้คนจะถูกรวบรวมเป็นข้อเสนอที่ดังพอให้พรรคการเมืองระดับชาติเข้าใจและผลิตนโยบายที่ตอบสนองต่อคนรากหญ้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเมื่อปาดังเบซาร์เป็นเมืองชายแดน ทำให้พึ่งพาการเมืองระดับชาติมากกว่าการเมืองระดับท้องถิ่นด้วยซ้ำไป  การเมืองท้องถิ่นอาจทำได้แค่บางส่วน แต่ส่วนที่เป็นโครงสร้าง หรือสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เหล่านี้ต้องพึ่งพาการเมืองระดับชาติ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าทำครั้งเดียวแล้วจะได้รับการตอบสนอง แต่จะค่อยเป็นค่อยไป

อภิศักดิ์: ถ้าฟังจากเด็กรุ่นใหม่ พวกเขามีความหวังกับที่นี่ รู้สึกว่าที่นี่ไปต่อได้ เหลือแค่ว่าจะจัดการอย่างไร  เป็นแผนของ Voice of Padang ว่าเราอยากสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนแบบนี้ขึ้นมา ทุกคนก็มีความในใจที่อยากสื่อสาร ผมมองว่างานของพวกเราคือทำให้เสียงมันถูกพูดออกมาหรือมีพื้นที่การพูด 

ประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของปาดังฯ มักเชื่อมโยงกับเรื่องสีเทา จะเล่าจุดนี้ออกมามากน้อยขนาดไหน

คอนดูล: ในมุมผม สิ่งเหล่านี้ควรเล่าออกมาอย่างตรงไปตรงมา ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เขาไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ค้าขายอยู่ทุกวัน เช่น ข้าวสาร วุ้นเส้น น้ำมันพืช ฯลฯ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย มองจากมุมรัฐส่วนกลางเนี่ย พื้นที่ตรงนี้ที่ถูกมองว่าเป็นสีเทา จริงๆ เป็นนิยามเดียวกับเขต duty free  แต่พื้นที่เหล่านั้นจะเป็นแบรนด์ของทุนใหญ่  สินค้าที่นี่ขายสำหรับคนรากหญ้า คนท้องถิ่นหรือคนมาเยี่ยมเยียน เป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต

สิ่งนี้คือการกระจายรายได้สู่รากหญ้า ซึ่งไม่มีอะไรที่ต้องปกปิดในการพูดถึง ปัจจุบันสินค้าหลายอย่างก็มีกฎหมายปลดล็อก ทั้งที่ในอดีตถูกมองว่าเป็นของหนีภาษี

อภิศักดิ์: ตอนเริ่มทำเราก็กังวลด้านนี้พอสมควร  ผมเพิ่งฟังรายการทอล์คของพี่จอบ (วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) แกบอกว่าถ้าเราจะไปข้างหน้าได้ เหมือนกับการง้างธนู ต้องดึงให้ลึก แรงส่งจะมาก เช่นเดียวกับปาดังเบซาร์ ผมคิดว่าเราต้องง้างให้ลึกและง้างแบบตรงไปตรงมา ถ้ามัวแต่เลี่ยงกันไปกันมา ไปข้างหน้าไม่ได้ 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: บัญชร วิเชียรศรี


อ่านต่อ

เสริมพลัง “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่าวปัตตานี” ด้วยงานวิจัย มุ่งสร้างความยั่งยืนทุกมิติ

เขาคูหา รัตภูมิ สงขลา สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ

ไฟน์โรบัสต้า โอกาสของเกษตรกร คณะทรัพย์ ม.อ. พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกกาแฟ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *