ขนส่งแจงสงขลาเรียกตรวจรถติดแก๊ส CNG 400 คัน เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย

วานนี้ (3 ต.ค.) นายอนุเทพน์ เกษา ขนส่งจังหวัดสงขลา ให้สัมภาษณ์กับ ‘PSU Broadcast’ ในรายการแลบ้าน แลเมือง ถึงความคืบหน้ามาตรการตรวจสอบความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ หลังนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ให้เรียกตรวจความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยโดยเฉพาะรถโดยสารไม่ประจำทาง

ประเภทรถโดยสาร

คุณอนุเทพน์ชี้แจงประเภทรถโดยสารว่าแบ่งเบื้องต้นได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • หนึ่ง รถโดยสารประจำทาง (ป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง ขึ้นต้นด้วยเลข 10) เช่น รถบัส รถตู้ รถสองแถว เป็นต้น
  • สอง รถโดยสารไม่ประจำทาง (ป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง ขึ้นต้นด้วยเลข 3 – 30 หรือ 31) เช่น การให้บริการเช่าเหมา
  • สาม รถโดยสารส่วนองค์กร ภาคธุรกิจ หรือ ส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ขึ้นต้นด้วยเลข 40) ให้บริการรับจ้างไม่ได้ 

กรมการขนส่งทางบก รายงานจำนวนรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งแก๊ส CNG ทั่วประเทศจำนวน 13,426 คัน แบ่งเป็น รถโดยสารประจำทาง 10,491 คัน และ รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 2,935 คัน

ในส่วนรถโดยสารที่ติดตั้งแก๊ส CNG ของจังหวัดสงขลานั้น ขนส่งจังหวัดสงขลาแจงว่า รถบัสโดยสารสาธารณะจำนวนราวหนึ่งพันคัน ไม่พบรถที่ติดตั้งแก๊ส CNG และพบรถตู้โดยสารที่ติดตั้งแก๊ส CNG ราว 400 คัน  กำหนดให้ทั่วประเทศเข้าตรวจมาตรฐานภายใน 60 วัน 

มาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ

ในด้านมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับรถโดยสารสาธารณะนั้น ขนส่งจังหวัดสงขลากล่าวถึงข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ดังนี้

  • ถังดับเพลิง: สำหรับรถบัสสองชั้น ต้องมีไม่น้อยกว่า 4 ถัง ถังละไม่ต่ำกว่า 4 กิโลกรัม และ ติดตั้งชั้นละ 2 ถัง, สำหรับรถบัสหนึ่งชั้น ต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ถัง ถังละไม่ต่ำกว่า 4 กิโลกรัม 
  • ค้อนทุบกระจก: รถบัสต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ตัว, รถตู้โดยสารต้องมีไม่น้อยกว่า 1 ตัว และต้องติดตั้งป้ายข้อมูลบอกตำแหน่ง และวิธีการใช้งานในกรณีฉุกเฉิน 
  • เข็มขัดนิรภัย: ต้องมีทุกที่นั่ง
  • ประตูฉุกเฉินและทางออกฉุกเฉิน: ต้องมีเขียนป้ายบอกตำแหน่งด้านข้างตัวรถสำหรับใช้ค้อนทุบให้แตกและใช้เป็นทางออกในกรณีฉุกเฉินได้รวมทั้งห้ามตั้งสิ่งกวีดขวางทางออกและประตูฉุกเฉิน 
  • การติดตั้ง GPS Tracking: กฎหมายกำหนดความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยใช้ GPS ติดตั้งเพื่อตรวจสอบความเร็ว สถานีใบขับขี่ ใบอนุญาตซึ่งจะแสดงผลทั้งศูนย์ GPS ของผู้ประกอบการและกรมการขนส่งทางบก 
  • การตรวจสภาพรถโดยสาร: กำหนดตรวจปีละสองครั้ง แบ่งเป็น 1 ครั้งในรอบการชำระภาษี และ ถัดไปภายใน 6 เดือน เช่น หากภาษีรถยนต์หมดเดือนมีนาคม ต้องตรวจสภาพรถโดยสารก่อนเดือนมีนาคม และนับถัดไปอีก 6 เดือนเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง 
  • พนักงานขับรถกรณีเส้นทางระยะไกล: ควรมีพนักงานขับรถอย่างน้อย 2 คน กฎหมายกำหนดหากขับติดต่อกัน 4 ชั่วโมง ต้องมีระยะพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง 

มาตรการเพิ่มเติม หลังเหตุสลดรถโดยสารนักเรียน

วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้กรมการขนส่งทางบกเรียกรถที่ใช้แก๊ส NGV ทั่วประเทศจำนวน 13,426 คัน แบ่งเป็น รถโดยสารประจำทาง 10,491 คัน และ รถโดยสารไม่ประจำทางประเภท 30 จำนวน 2,935 คัน เข้ารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน หากไม่ผ่านจะถูกยึดใบประกอบการ

ทั้งนี้ ในประเภทรถโดยสารไม่ประจำทาง (ประเภท 30) นั้น กำหนดให้มีพนักงานขับรถพร้อมกับพนักงานประจำรถเช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทางซึ่งผ่านการอบรมและทดสอบหลักสูตรเผชิญเหตุและการช่วยเหลือเผชิญเหตุ รวมถึงต้องสาธิตการเผชิญเหตุแบบบุคคลและวิดีโอก่อนออกรถ

ส่วนของรถโดยสารไม่ประจำทาง ในกรณีทัศนศึกษาของสถาบันการศึกษานั้น ต้องประสานความร่วมมือกับขนส่งจังหวัดให้ตรวจสภาพรถร่วมกันและออกใบอนุญาตมาตรฐานความปลอดภัยก่อนออกเดินทาง พร้อมทั้งจะทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ทั้งนี้ ขนส่งจังหวัดสงขลากล่าวว่ากรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดออกกฎกระทรวง เพิ่มหลักสูตรความปลอดภัยในการรับมือเหตุฉุกเฉินสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำรถ

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: แฟ้มภาพ/ ภานุเทพ ปานหมี 

อ่านต่อ

กฎหมาย 4.0 : กฎหมายกับขนส่งระบบราง
สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เตือน! ผู้ใช้รถ 9 ยี่ห้อ เช็คด่วนถุงลมนิรภัยไม่ได้มมาตรฐาน

อบจ.สงขลา  แถลงข่าวโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรล (Transit Oriented Development : TOD)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *