วานนี้ (7 ต.ค.) คุณมูนิร ใจดี นักพัฒนาสังคม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงกรณีที่ผู้ถือบัตรผู้พิการจำนวนหนึ่งไม่ได้รับเงินหมื่น แจงสาเหตุบัตรหมดอายุ ฐานข้อมูลตกหล่น แจงแก้ไขก่อน 3 ธ.ค. รับเงินหมื่นรอบเก็บตก
คุณมูนิร แจงว่ากลุ่มผู้พิการที่ได้รับเงินหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนและถือบัตรผู้พิการก่อนวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2567 สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไปนั้น ถือเป็นผู้พิการกลุ่มใหม่และยังไม่ได้รับสิทธิ
ในส่วนของจังหวัดสงขลานั้น นักพัฒนาสังคมจังหวัดสงขลาแจงว่า จำนวนผู้พิการที่ถือบัตรทั้งหมดมีจำนว 41,000 คน และกลุ่มที่พบปัญหา ยังไม่ได้รับเงิน 10,000 นั้นมีจำนวนราว 2,300 คน แบ่งสาเหตุที่พบได้เป็น
หนึ่ง บัตรคนพิการหมดอายุ 8 ปี สอง บัตรยังไม่หมดอายุ แต่ในระบบข้อมูลพบว่าข้อมูลไม่สมบูรณ์ เกิดจากสองสาเหตุ คือ ความบกพร่องของเจ้าหน้าที่หรือระบบบันทึกข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่สมบูรณ์ เช่น ขาดการระบุประเภทความพิการ หรือ การย้ายฐานข้อมูลของ พม. เป็นต้น
สาเหตุเบื้องต้นที่มีกลุ่มคนพิการบัตรหมดอายุนั้น คุณมูนิรแจงว่าการจ่ายเบี้ยคนพิการในบางพื้นที่นั้นจะระงับการจ่ายเมื่อบัตรหมดอายุ แต่บางพื้นที่แม้บัตรหมดอายุแล้ว ยังมีการจ่ายเงินสวัสดิการต่อเนื่อง
เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบเก็บตก
คุณมูนิรแจงว่ากรณีเงิน 10,000 บาท รอบเก็บตก สำหรับผู้ที่ต้องแก้ไขข้อมูลในระบบการยืนยันตัวตนนั้น มี 3 รอบ ได้แก่
รอบแรก 10 ตุลาคม 2567 หากดำเนินการแล้วเสร็จ เงินจะเข้าในวันที่ 21 ตุลาคม
รอบสอง 10 พฤศจิกายน 2567 หากดำเนินการแล้วเสร็จ เงินจะเข้าในวันที่ 21 พฤศจิกายน
รอบสุดท้าย 3 ธันวาคม 2567 หากดำเนินการแล้วเสร็จเงินจะเข้าในวันที่ 18-19 ธันวาคม
การแก้ไขข้อมูลในระบบและต่ออายุบัตรผู้พิการ
คุณมูนิรแจงว่าข้อมูลที่เกิดความเข้าใจผิดในช่วงการลงทะเบียนรับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจคือการผูกบัญชีเข้ากับระบบพร้อมเพย์ ในประเด็นนี้แจงว่า กลุ่มผู้พิการนั้นไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับระบบพร้อมเพย์ แต่จะได้รับเงินโดยตรงผ่านบัญชีที่ได้รับเงินสนับสนุนผู้พิการในทุกเดือน ส่วนกลุ่มที่ต้องผูกบัญชีกับระบบพร้อมเพย์นั้นคือกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
กระบวนการแก้ไขข้อมูลในระบบ และ การต่ออายุบัตรผู้พิการนั้น ทำได้ผ่านช่องทางดังนี้
- ยืนยันตัวตน พร้อมบัตรคนพิการใบเดิม สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตนที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
- กรณีพิการไม่สมบูรณ์และบัตรหมดอายุแล้ว ต้องพบแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐเพื่อออกเอกสารรับรองความพิการใหม่ และยื่นที่ พมจ.
- หากไม่สะดวกในการเดินทาง สามารถชี้แจงข้อมูลผ่านทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านได้
ในประเด็นการพิสูจน์ความพิการนั้น คุณมูนิรแจงว่าความพิการบางประเภทรักษาหายได้ เช่น เคยมีอาการหูตึง แต่ปัจจุบันสื่อสารได้ปกติและไม่ต้องใช้เครื่องช่วยฟัง หรือ ความพิการของแต่ละคนอาจเพิ่มขึ้น กฎหมายจึงระบุว่าทุก 8 ปี ต้องรับการประเมินจากแพทย์เพื่อต่ออายุ หรือขึ้นกับดุลพินิจ
เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพ: แฟ้มภาพ/ ภานิชา ปณัยเวธน์
อ่านต่อ