ปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี – Super Full Moon 2024

‘PSU Broadcast’ สนทนากับ คุณธีรยุทธ ลอยลิบ เจ้าหน้าที่สารสนเทศชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประจำหอดูดาวสงขลา ถึงปรากฏการณ์ Super Full Moon – ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2567

คุณธีรยุทธกล่าวว่าปรากฏการณ์นี้มีให้เห็นในทุกปี จากการที่วงโครจรของดวงจันทร์ซึ่งเป็นบริวารของโลกนั้นเป็นวงรี ทำให้เกิดทั้งปรากฏการณ์ดวงจันทร์ไกลโลก และใกล้โลก ซึ่งดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดนั้นล่าสุดเกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา 

ปรากฏการณ์ Super Full Moon ในครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะใกล้โลกมากที่สุดในเวลา 18 นาฬิกา 28 นาทีของวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ระยะห่างโลก-ดวงจันทร์ในระยะ 357,000 กิโลเมตร คุณธีรยุทธกล่าวว่าหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพของดวงจันทร์ไกลและใกล้โลก ความต่างระหว่างเหรียญ 25 สตางค์ และ 50 สตางค์ในระยะการมอง 2 เมตร

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สารสนเทศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ เผยว่า หอดูดาวจะบันทึกภาพดวงจันทร์ตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพและการตั้งค่าแบบเดียวกัน ซึ่งจะเห็นรายละเอียดของดวงจันทร์ เช่น หลุมบนดวงจันทร์ เพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลสำหรับศึกษาในอนาคต

การที่ดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในครั้งนี้นั้นส่งผลให้เกิดน้ำขึ้นสูงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงระหว่าง โลก-ดวงจันทร์-พระอาทิตย์ 

“เรามักเข้าใจว่าดวงอาทิตย์ส่งผลต่อน้ำขึ้น-น้ำลงเพราะขนาดใหญ่ แต่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากโลกมาก สิ่งที่มีผลต่อน้ำขึ้น-น้ำลงมากคือดวงจันทร์” คุณธีรยุทธกล่าว 

วันนี้ (17 ต.ค.) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา จัดกิจกรรมชวนดูดวงจันทร์เต็มดวงผ่านกล้องโทรทรรศน์ ชวนแต่งกายร่วมกิจกรรมในธีม ‘ฮาโลวีน’ ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. 

นอกจากจังหวัดสงขลาแล้ว มีจุดสังเกตการณ์อื่นอีกจำนวน 4 จุด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และ จ.ฉะเชิงเทรา 

เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพ: แฟ้มภาพ ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด/ ภานิชา ปณัยเวธน์

อ่านต่อ

หอดูดาวสงขลา จัดค่ายอบรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน ต่อยอดการเรียนรู้ครูและนักเรียน

พิพิธภัณฑฯ ม.อ. ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Silver Awards)

พิชิต “แสงเกเกินไชน์ (Gegenschein)”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *