ม.อ. เจ้าภาพประชุม 3 มหาวิทยาลัย เชื่อมเครือข่ายภูมิภาค ในแนวคิดลดการปล่อยคาร์บอนฯ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 มหาวิทยาลัย ในชื่อ ‘3 พลังเพื่อแผ่นดิน’ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ครั้งที่ 8 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-19 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรม รอยัล ซิตี้ อำเภอเมือง จ.ภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน และส่งเสริมความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย

ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมจาก 3 มหาวิทยาลัยราว 600 คน แบ่งเป็นคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนรายประเด็น 8 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ด้านการเรียนการสอน: Skill Mapping การออกแบบหลักสูตรให้สอดรับกับสมรรถนะนักศึกษา

กลุ่มที่ 2 ด้านวิจัย: How to Hunt Global Funds – แนวทางการพัฒนาแนวทางการทำวิจัยสู่ระดับโลกและด้านการหาทุนวิจัย

กลุ่มที่ 3 ด้านบริการวิชาการ: การตำนวณและการใช้ประโยชน์การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ในการบริการสาธารณะของมหาวิทยาลัย

กลุ่มที่ 4 ด้านบริหารจัดการ: Data Driven University การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล 

กลุ่มที่ 5: ด้านพัฒนานักศึกษา: ระบบการบริหารและจัดการสุขภาวะของนักศึกษา เช่น ประเด็นสุขภาพจิตรวมถึงการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษา 

กลุ่มที่ 6 ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม: Soft Power Creative Economy การต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

กลุ่มที่ 7: Carbon Neutral University การผลักดันให้มหาวิทยาลัยดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อน

และ กลุ่มย่อย: ชมรมผู้เกษียณอายุ ให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ในกลุ่มพนักงานเกษียณอายุ

ม.อ. ผลักดันสร้างเครือข่ายความรู้ 

รศ.ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ThaiUnews – เครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน’ กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 มหาวิทยาลัยว่า ทั้งสามสถาบันการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ช่วงเวลาการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ขนาดพื้นที่ จำนวนบุคลากรและนักศึกษา ฯลฯ จึงเป็นโอกาสสำหรับการพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารงาน และสร้างความร่วมมือร่วมกัน

รศ.ดร.อุดมผล ยกตัวอย่างข้อตกลงในการประชุมร่วมเมื่อปี พ.ศ.2565 ถึงการลดการใช้กระดาษในการเดินเอกสารภายในมหาวิทยาลัย จึงเกิดการดำเนินการและพัฒนาร่วมกัน จนปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 90 ของเอกสารทั้งหมดได้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

การประชุมรูปแบบลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ รศ.ดร.อุดมผลกล่าวว่าตั้งใจจัดเป็นกิจกรรมตัวอย่าง (case study) เพื่อสื่อสารต่อชุมชนและสังคม และเป็นการต่อยอดสู่การจัดกิจกรรมในอนาคต

สำหรับประเด็นความร่วมมือของ 3 สถาบันการศึกษาที่จะรับฟังความคิดเห็นและเปิดตัวในการประชุมครั้งนี้ คือการเชื่อมโยงฐานข้อมูลดิจิตัลของห้องสมุด 3 มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.อุดมผลเผยว่า ในอนาคตสามารถขยายเครือข่ายฐานข้อมูลนี้ต่อยอดในมหาวิทยาลัยภูมิภาคอื่นได้เพื่อร่วมผลักดันสร้างเครือข่ายข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยร่วมกัน 

มช. สร้างนักศึกษาทันโลก

ผศ.ดร. ปิติพงษ์ ยอดมงคล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน 3 มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ว่าทาง มช. ได้เตรียมทีมทำงานในแต่ละหัวข้อเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอประเด็นในที่ประชุมและกลุ่มหารือย่อย  เช่น 

ประเด็นสุขภาวะนักศึกษา ผศ.ดร.ปิติพงษ์ กล่าวว่าปัจจุบันนักศึกษาเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น และมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือนักศึกษาในด้านนี้ เช่น การดูแล การปรับแนวทางการสื่อสารกับนักศึกษา รวมถึง การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย 

ส่วนประเด็นการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมนั้น รองอธิการบดี มช. เผยว่า มหาวิทยาลัยมีการทำงานร่วมกับชุมชนในการนำอัตลักษณ์ องค์ความรู้ และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ทำวิจัย รวมถึง ส่งเสริมอาชีพร่วมกับชุมชน

ในประเด็นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) นั้น ผศ.ดร.ปิติพงษ์กล่าวว่า มช. มีระบบกำจัดขยะ 100% ภายในมหาวิทยาลัย ไม่นำขยะทิ้งข้างนอก และนำพลาสติกภายในไปหมุนเวียนเพื่อทำถนน และทางมหาวิทยาลัยพร้อมจะนำเสนอและแลกเปลี่ยนการดำเนินนโยบายนี้ร่วมกับที่ประชุม

ในด้านการปรับการเรียนการสอนและหลักสูตรนั้น ผศ.ดร.ปิติพงษ์กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งจะปรับการเรียนการสอนเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของโลกในปัจจุบัน ด้วยการเชื่อมโยงทักษะผ่านการออกแบบหลักสูตร รวมถึงระบบการวัดและประเมินผล

“ผู้ประกอบการ สังคมภายนอกจะได้ประโยชน์อะไรจากผลผลิตของนักศึกษา… นักศึกษาต้องมีทักษะที่ทันโลก ออกไปทำงานกับสังคม ชุมชน ธุรกิจ และประเทศชาติได้” ผศ.ดร.ปิติพงษ์กล่าว

มข. ร่วมขับเคลื่อนแลกเปลี่ยน สร้างค่านิยม

ผศ.ดร.ภัทรวิทย์ พลพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า การประชุมร่วมครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2553 ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการทำงาน เช่น การจัดการศึกษา การบริการวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งมี ม.อ. เป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553

ในปี พ.ศ.2562 ในการทำข้อตกลงร่วมกัน มีแนวคิดเชิญมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นเครือข่ายในการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงเป็นที่มาของการประชุมร่วม 3 มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 

ผศ.ดร.ภัทรวิทย์ ยกตัวอย่างผลสืบเนื่องจากการประชุมร่วม 3 มหาวิทยาลัย เช่น การนำนวัตกรรมต่อยอดทางธุรกิจ การพัฒนาสุขภาพชุมชนจากการแต่ละสถาบันการศึกษามีโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัย 

ในด้านประเด็นหารือแลกเปลี่ยนนั้น ผศ.ดร.ภัทรวิทย์ กล่าวว่า มข. กำลังดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากร และใช้ข้อมูลเพื่อบริหารงาน (Data Network) จึงถือเป็นโอกาสที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับ 2 มหาวิทยาลัยเพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานภายใน

ในประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ในฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั้น รองอธิการบดี มช. กล่าวว่าเน้นการส่งเสริมด้วยการสร้างค่านิยมภายในองค์กร เช่น การลดใช้วัสดุเหลือทิ้ง การประหยัดพลังงาน ฯลฯ ดังค่านิยม ‘SMART KKU’ ที่ส่งเสริมใน มข.  เพื่อส่งผลสืบเนื่องในระยะยาวต่อไป 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อ่านต่อ

“คาร์บอนเครดิต” เครดิตจากการลดก๊าซเรือนกระจกที่ซื้อขายได้

รู้จักระบบ PSU e-Document ลดภาระงานเอกสาร เพิ่ม workflow องค์กร

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชวนสูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์ ‘วัยเก๋า’ ใช้สื่อเป็น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *