ม.อ.​จัดประชุม รูปแบบลดการปล่อยคาร์บอน ร่วมใช้ Carpool งดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

วันนี้ (18 ต.ค.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นเจ้าภาพประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หรือการประชุม ‘3 พลังเพื่อแผ่นดิน’ ครั้งที่ 8 ณ โรงแรม Royal Phuket City อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีผู้เข้าร่วมทั้งคณาจารย์ คณะผู้บริหาร พนักงานมหาวิทยาลัย รวม 594 คน 

เวลา 08:00 น. ลงทะเบียนเข้าร่วมงานด้วยระบบยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วยการสแกน QR Code และมีการกรอกรูปแบบการเดินทางก่อน-ระหว่างการประชุม พฤติกรรมการใช้พลังงาน ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่เกิดขึ้นจากการจัดประชุมในครั้งนี้ 

พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย รศ.ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและกิจการพิเศษ​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวต้อนรับโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทำพิธีเปิดงานร่วมกับ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แนวคิดการจัดงานแบบลดปล่อยคาร์บอน

ในด้านรายละเอียดรูปแบบการจัดงานนั้น ศ.ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงรูปแบบการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งแนวคิดนี้ต่อเนื่องจากการประชุมร่วม 3 มหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ โดยมี 3 แนวคิดหลัก คือ

Awareness – สร้างความตระหนักรู้ หารือและวางแผนการประชุมร่วมกันในรูปแบบลดการปล่อยคาร์บอน

Action – ร่วมลงมือนำแนวคิดใช้จริง

Achieve – แสดงผลการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการปรับใช้แนวคิด รวมถึงต่อยอดแนวคิดนี้ในแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย 

แบ่งเป็นการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง การสื่อสารและประชาสัมพันธ์การจัดงานและภายในงานผ่านระบบดิจิตัล

สอง สถานที่จัดงาน ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สาม การตกแต่งสถานที่และจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น การควบคุมอุณหภูมิสถานที่จัดงานอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส เลือกใช้อุปกรณ์ตกแต่งเท่าที่จำเป็น และงดใช้ดอกไม้สดและวัสดุจากโฟม

สี่ อาหารและเครื่องดื่ม จัดเตรียมอาหารในปริมาณเหมาะสม เลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และบริการน้ำดื่มใส่ภาชนะใช้ซ้ำ รวมถึงงดหลอดและเครื่องปรุงแบบซอง 

ห้า ระบบลงทะเบียน งดการใช้กระดาษ ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าถึงเอกสารการประชุม

และ หก การจัดเตรียมและบริหารจัดการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การแยกประเภทขยะ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานเดินทางร่วมกัน (Carpool) 

บูธภายในงานมีการแสดงหน้าจอการคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้นจากการจัดประชุมครั้งนี้แสดงผล เวลา 08:30 น.​ อยู่ที่ 130.86 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า – หน่วยสำหรับวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการทำกิจกรรม) ระบุเปรียบเทียบกับการจัดประชุมรูปแบบปกตินั้นจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ราว 6% หรือ 18.32 tCO2e

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการรับมือสภาวะโลกเดือด

ม.อ. ร่วมกับ SUN Thailand จัดประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนที่ภูเก็ต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *