เปิดตัวแหล่งข้อมูลเรียนรู้ ‘โนรา’ บันทึกมรดกภูมิปัญญาที่ยังมีชีวิต

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2567) ณ โนราบ้าน 168 ถนนนครใน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา สำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการ “ศาสตร์โนรา สู่คลังปัญญาสุวรรณภูมิ” เปิดตัวแพลตฟอร์มการเรียนรู้ แหล่งข้อมูลสำหรับค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับศาสตร์โนรา เป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ‘WISE’ (World Integrated Suvarnabhumi Education – โครงการการศึกษาสุวรรณภูมิเชื่อมโยงโลก) เข้าถึงได้ที่ wise.psu.ac.th

ศิลปะการแสดงโนราเป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงในภาคใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านการผสมผสานทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนโนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เมื่อปี พ.ศ. 2564

การแสดงโนราเป็นศิลปะที่นำทั้งการแสดง การเต้น เครื่องดนตรีประกอบจังหวัด รวมถึงคำร้อง มาผสมผสานเป็นการแสดงที่ตื่นเต้นเชิญชวนให้มีส่วนร่วมกับผู้ชม หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือเครื่องแต่งกาย ประกอบด้วยเครื่องสวมศรีษะ ลักษณะคล้ายมงกุฎของราชสำนัก รวมถึง เครื่องทรงโนราหรือเครื่องลูกปัดซึ่งนำลูกปัดหลากหลายสีมาร้อยเป็นลวดลาย

กิจกรรม “ศาสตร์โนรา สู่คลังปัญญาสุวรรณภูมิ” เริ่มตั้งแต่เวลา 09:00 น. ประกอบด้วยการแนะนำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ WISE กล่าวต้อนรับโดย ผช.ดร.ชิดชนก โชคสุชาติ หัวหน้าโครงการ และ กล่าวเปิดงานโดย ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มีคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา เข้าร่วมงาน

เสวนาถกประเด็น ต่อยอดศาสตร์โนรา พัฒนาองค์ความรู้

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ประธานคณะทำงานการจัดตั้งศูนย์วิจัยวัฒนธรรมภาคพื้นสมุทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เผยว่า เมื่อรัฐบาลไทยเสนอให้การแสดงโนราขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก อ.พรรัตน์ ดำรุง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มาพูดคุยกับตน และได้แลกเปลี่ยนในประเด็นว่า ‘ลูกปัด’ เป็นองค์ประกอบของการแสดงโนราได้อย่างไร

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

คุณบัญชากล่าวต่อว่าหนึ่งในสถานที่พบลูกปัดเป็นจำนวนมากอยู่ที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ บริเวณควนลูกปัด มีการประเมินว่าอาจพบรวมกันถึงล้านเม็ด รวมถึงจุดอื่น เช่น ภูเขาทอง จ.ระนอง, อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี, เขาสามแก้ว อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร

หลักฐานการพบลูกปัดเหล่านี้เผยว่าพื้นที่ประเทศไทยและภาคใต้เป็นหนึ่งในสถานีการค้าลูกปัดมาอย่างยาวนาน คุณบัญชายังเผยว่าการค้นพบลูกปัดในสถานีค้าขาย ในหีบหรือกล่องแสดงให้เห็นว่าในอดีตเป็นทั้งแหล่งผลิตและหนึ่งในศูนย์กลางการค้าลูกปัด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณกล่าวถึงการศึกษาลวดลายทางศิลปกรรมของลูกปัดในอดีตของมหาวิทยาลัยทักษิณ และได้เคยจัดทำโครงการโนราพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการศึกษาห่วงโซ่ของโนราและลวดลายโนราในลูกปัด นำลวดลายดังกล่าวมาสร้างสรรค์ต่อเนื่องในศิลปะอื่น เช่น ภาพพิมพ์ หัตถกรรม ลายกระเป๋า-เสื้อผ้า ซึ่งเป็นการศึกษาและบันทึกวัฒนธรรม ต่อยอดแนวคิดศิลปกรรมในอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรากล่าวถึงความสำคัญของลูกปัดประกอบการแสดงโนราว่าในสมัยก่อนจะใช้ลูกปัดใส่ประกอบการแสดงเพียง 1-2 เส้น นำไปร้อยประกอบเครื่องทรงโนรา หรือห้อยที่ปี่ เพราะมีราคาแพง และผู้ที่สวมใส่มักเป็นนายโรง ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี

คุณธรรมนิตย์เผยว่าต้องเดินทางไปซื้อลูกปัดที่ปีนัง ประเทศมาเลเซียเพื่อมาร้อยประกอบการแสดง ปัจจุบัน เมื่อพัฒนาพลาสติกทำลูกปัดราคาถูกลง จึงสามารถต่อยอดในการทำเครื่องแต่งกายอื่นประกอบการแสดงโนราได้มากขึ้นและชุดเต็มตัว รวมถึงลวดลายเพิ่มขึ้น

ศิลปินแห่งชาติยังกล่าวว่า ลวดลายของลูกปัดขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของผู้ออกแบบ ไม่ได้มีลวดลายตายตัว  

รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มองว่าโจทย์ตั้งต้นของการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์โนราในโครงการนี้ เริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ ที่เป็นแหล่งคงที่ เชื่อถือได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ “ศาสตร์โนรา สู่คลังปัญญาสุวรรณภูมิ” นำข้อมูลเข้าสู่แหล่งข้อมูลออนไลน์เพื่อต่อยอดเป็น digital economy จากพื้นฐานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ภานุเทพ ปานหมี

อ่านต่อ

‘LUNATIQUE’ นิทรรศการศิลปะ จินตนาการ ความงดงามยามราตรี และอิทธิพลครอบงำจากดวงจันทร์

ผ้ามัดย้อมสีครามธรรมชาติ ศิลปะการสร้างลวดลายและสีสันบนผืนผ้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *