การเพาะเห็ดฟางไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก เพียงแค่มีตะกร้า 1 ใบ ก็สามารถเพาะเห็ดฟางนำมารับประทานในครัวเรือนได้แล้ว
คุณสมชาย เฮงวัชรไพบูลย์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ได้สาธิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมภูเก็ต ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรลดลง ค่าครองชีพสูง และบริเวณที่พักอาศัยมีพื้นที่ว่างไม่มาก การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติกจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
การเพาะเห็ดฟางสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะแบบกองเตี้ย การเพาะในถุง การเพาะแบบโรงเรือนอบไอน้ำ แล้วแต่สภาพความพร้อมของพื้นที่และความพร้อมของผู้เพาะ รวมทั้งวัสดุที่ใช้เพาะ ก็ใช้ได้หลากหลายอย่าง ตามที่มีในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา ต้นกล้วยแห้ง ไส้นุ่น เปลือกถั่ว หรือกากมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่านั่นเอง ที่สำคัญการเพาะเห็ด นอกจากจะเป็นการผลิตอาหารในครอบครัวแล้ว ยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้เสริม ในช่วงว่างจากฤดูการทำนา และวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดก็สามารถนำกลับลงในแปลงนาเพื่อบำรุงดิน หรือทำเป็นปุ๋ยหมักใส่พืชผักได้อีกด้วย
การเพาะเห็ดในตะกร้า เป็นการเพาะเห็ดอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ง่าย ใช้พื้นที่น้อย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ทุกครัวเรือนเพื่อบริโภค ดอกเห็ดสามารถทยอยออกได้เรื่อยๆ เป็นการลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และสามารถทำเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้จากไร่นาได้เกือบทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดฟางแบบอื่นๆ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ สามารถนำก้อนเชื้อเห็ดที่เก็บดอกหมดแล้วมาใช้ได้ ทั้งเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า และเห็ดนางรม สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ไม่ยาก ประกอบด้วย ตะกร้าพลาสติก ขนาด 12×14 นิ้ว มีตาห่างประมาณ 2 นิ้ว เชื้อเห็ดฟางที่พร้อมเพาะ ก้อนเชื้อเห็ดเก่า ปุ๋ยหมัก หรือผักตบชวาหั่นสด ท่อนไม้สำหรับรองก้นตะกร้า โครงไม้ไผ่แบบสุ่ม และผ้าพลาสติกคลุมสุ่ม
ส่วนวิธีเพาะ ให้เทก้อนเชื้อเห็ดเก่าออกจากถุง ขยี้ให้แตก อัดลงในตะกร้า หนาชั้นละ 3 นิ้ว ใส่อาหารเสริมจำพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือผักตบชวาสับ ชั้นละ 1-2 กำมือ โรยเชื้อเห็ดฟาง รดน้ำพอชุ่มแล้วทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ต่อไปเหมือนกัน โดยชั้นที่ 3 ให้เหลือช่องว่างของตะกร้าจากปากไว้ 3 นิ้ว การเลือกเชื้อเห็ดที่ดี ควรเลือกที่มีเส้นใยเต็มถุง มีสีขาวนวล ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา และมีกลิ่นหอมของเห็ดฟาง ส่วนพื้นที่เพาะเห็ดต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลง น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี
วิธีการดูแลไม่ยาก หลังจากบรรจุวัสดุเพาะเห็ดเรียบร้อย ให้นำตะกร้าเห็ดที่ได้ไปวางไว้ตามร่มไม้ชายคา ที่มีแสงแดดเล็กน้อย โดยเอาท่อนไม้วางรองด้านล่างกันปลวก โดยการเพาะ 1 สุ่ม ควรใช้ตะกร้า 4 ใบ วางด้านล่าง 3 ใบ ซ้อนด้านบน 1 ใบ ใช้สุ่มครอบ คลุมด้วยแผ่นพลาสติก เมื่อครบ 4 วัน ให้เปิดพลาสติกคลุมตอนเช้าหรือเย็นเพื่อให้เชื้อเห็ดรับอากาศ ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วปิดไว้ตามเดิม ทิ้งไว้กระทั่ง วันที่ 9-12 ดอกเห็ดฟางก็จะเกิด สามารถเก็บไปประกอบอาหารได้ ถ้าทำจำนวนมากหลายสุ่มจะเหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอย่างดีอีกด้วย โดยดอกเห็ดฟางในตะกร้าสามารถเก็บได้เรื่อยๆ จนหมดรุ่น ซึ่งสามารถเปิดพลาสติกรดน้ำให้เปียกเอารุ่นที่ 2 ได้อีก พอดอกเห็ดหมดสามารถนำวัสดุที่เหลือนำไปเป็นปุ๋ยหมัก ใส่แปลงผัก หรือใส่แปลงนาได้อย่างดี หลังจากนั้น ล้างตะกร้าให้สะอาดตากแดด ประมาณ 1-2 แดด นำมาเพาะเห็ดรุ่นต่อไปได้
สภาพอากาศที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส เนื่องจากเห็ดฟางชอบอากาศร้อน เจริญเติบโตได้ดีทั้งในฤดูฝนและในฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกเห็ดได้ดีอยู่แล้ว ส่วนในช่วงอากาศหนาวไม่ค่อยจะดีนัก เพราะอากาศที่เย็นเกินไปไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของดอกเห็ดฟาง สำหรับทางภาคใต้ก็สามารถจะเพาะเห็ดฟางได้ตลอดทั้งปี ถ้ามีฝนตกไม่มากเกินไปนัก จึงเห็นได้ว่า การเพาะเห็ดฟางของประเทศไทยเราสามารถเพาะได้ตลอดปี แต่หน้าหนาวผลผลิตจะลดน้อยลง เนื่องจากอุณหภูมิต่ำ จึงทำให้เห็ดฟางมีราคาสูง
เห็ดฟาง ไม่ชอบแสงแดดโดยตรง หากถูกแสงแดดมากเกินไปเส้นใยเห็ดอาจจะตายได้ง่าย จึงควรจะคลุมกองด้วยผ้าพลาสติกเพื่อพรางแสงแดด โดยดอกเห็ดฟางที่ไม่โดนแสงแดดจะมีสีขาวนวลสวย ถ้าดอกเห็ดฟางโดนแดดแล้วจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำเร็วขึ้นกว่าปกติ
การเก็บเห็ดได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะและฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็วกว่าฤดูหนาว เพราะความร้อนช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเห็ด นอกจากนั้น ถ้าใส่อาหารเสริมด้วยแล้ว จะทำให้เกิดดอกเห็ดเร็วกว่าไม่ใส่อีกด้วย ดอกเห็ดที่ขึ้นเป็นกระจุก มีทั้งอ่อนและแก่ ถ้ามีดอกเล็กๆ มากกว่าดอกใหญ่ ควรรอเก็บเมื่อดอกเล็กโตหรือรอเก็บชุดหลัง เก็บดอกเห็ดที่ขึ้นทั้งกระจุก โดยใช้มือจับทั้งกระจุกอย่างเบาๆ แล้วหมุนซ้ายและขวาเล็กน้อย ดึงขึ้นมาพยายามอย่าให้เส้นใยกระทบกระเทือน
ศัตรูของเห็ดฟางคือ แมลง เช่น มด ปลวก ไรเห็ด วิธีการแก้ไข ให้ใช้สารเคมีพวกเซฟวินโรยรอบๆ กอง ห่างประมาณ 1 ศอก ควรจะโรยสารเคมีนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มกองเห็ด แต่อย่าโรยภายในกอง เพราะจะมีผลต่อการออกดอก อีกทั้งยังมีสารพิษตกค้างในดอกเห็ด ซึ่งเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
นอกจากแมลงที่เป็นศัตรูของเห็ดฟางแล้ว ศัตรูอีกอย่างคือ เห็ดคู่แข่ง เป็นเห็ดที่เราไม่ได้เพาะ แต่ขึ้นมาด้วย หรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของเห็ดฟาง เช่น พวกราต่างๆ วิธีแก้คือ การเก็บฟางไม่ควรให้ถูกฝน และถ้ามีราขึ้นให้หยิบฟางขยุ้มนั้นทิ้งให้ไกลกองเพาะ
“การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า มีต้นทุนต่ำ เหมาะกับทุกบ้านเรือน เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตทุกฤดูกาล ที่สำคัญเป็นพืชปลอดสารพิษ นอกจากนำผลผลิตมารับประทานในบ้านเรือนแล้ว ผลผลิตที่เหลือยังสามารถนำไปขายเป็นรายได้เสริมอย่างดี” เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก www.technologychaoban.com