คุณเคยลองสังเกตตัวเองหรือไม่?
คุณมีเรื่องให้คิดเยอะ มีเรื่องไม่สบายใจ มีความเครียดหรือเปล่า?
จริงๆแล้วความเครียดสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเวลา ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องของจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายมากมายที่คาดไม่ถึงอีกด้วย โดยสาเหตุอาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น เรื่องงาน การหย่าร้าง ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ การย้ายบ้าน เป็นต้น หรือปัจจัยภายใน โดยที่บางคนมีนิสัยคิดมาก ชอบวิตกกังวลในเรื่องเล็กน้อย หรือสารเคมีในสมองไม่สมดุลทำให้เกิดอารมณ์เครียดและเศร้าง่าย
หากความเครียดนั้นเกิดจากความกลัวหรืออันตราย ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะเตรียมให้ร่างกายพร้อมที่จะต่อสู้ อาการที่ปรากฏก็เป็นเพียงทางกาย เช่น ความดันโลหิตสูงใจสั่น แต่สำหรับชีวิตประจำวันจะมีสักกี่คนที่จะทราบว่าเราได้รับความเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่มีทางหลีกเลี่ยง การที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังทำให้เกิดอาการทางกาย และทางอารมณ์
อาการที่เกิดจากความเครียด แบ่งออกเป็น 4 ด้าน นั่นคือ
1. ด้านร่างกาย เช่น มีอาการหายใจเร็ว ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ฯลฯ
2. ด้านจิตใจและอารมณ์ รู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า กดดัน โกรธ มีความคิดด้านลบ เหนื่อยง่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ ฯลฯ
3. ด้านพฤติกรรม เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป และอาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้ยาเสพติด ฯลฯ
4. ด้านสังคม อาจแสดงออกด้วยการเบื่องาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่อยากเข้าสังคม ฯลฯ
หากคุณรู้สึกว่าคุณเครียดและวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ควบคุมความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้หรือมีความเครียดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนไม่มีความสุข และมีอาการที่มีผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง มีอาการทางกายต่างๆที่มาจากความเครียด ต้องรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะทำการวินิจฉัยด้วยการพูดคุย สอบถามอาการเพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุของความเครียด และช่วยคุณปรับความคิดและพฤติกรรมเพื่อให้คุณเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น