ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ความเป็นอาจารย์ในสงขลานครินทร์ ความเข้าใจวัฒนธรรม และมีเครือข่ายเข้มแข็ง เป็นต้นทุนสำคัญช่วยเสริมการแก้ปัญหาภาคใต้


ในสถานการณ์การเกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุข ที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภาคใต้ มีอีกหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เป็นกำลังสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับการกระจายและสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อช่วยควบคุมป้องกันและรักษาโรค นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชน นั่นคือ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยและผลิตบุคลากรและนักวิจัยให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมาเป็นเวลานาน

นายแพทย์ผู้หนึ่งที่ได้ทุ่มเทอุทิศตนในการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี ในการจัดระบบด้านงานวิจัยทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในภาคใต้ จนปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 คือ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้ก่อตั้งหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เป็นแบบอย่างของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานสากลในระดับนานาชาติ และสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ

เป็นผู้ทำวิจัยและติดตามสภาวะปัญหาสุขภาพต่างๆของภาคใต้ โดยเฉพาะโรคจากความยากจน เช่น บาดทะยักเด็กแรกคลอด ท้องร่วง ปอดบวม หนอนพยาธิผ่านดินและปัญหาทุพโภชนาการ การวิจัยทางระบาดวิทยาของวัณโรค ปัญหาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เช่น สารหนูจากการทำเหมืองและตะกั่วจากอู่ซ่อมเรือ ปัญหาสุขภาพการเจริญพันธุ์ของประเทศต่างๆ เช่น ไทย เวียดนาม เนปาล พม่า มองโกเลีย โดยมีงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ กล่าวว่า ระหว่าง 40 ปีที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หากเป็นบริบทที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19 หรือเรื่องไฟใต้ ถือเป็นหน้าที่ของนักวิชาการในพื้นที่จะต้องทำหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องที่เป็นชุมชนของเรา และต้นทุนทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งเป็นผลดีในการทำงานได้ง่าย ด้วยความเข้าใจวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมทั้งการมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งเครือข่ายลูกศิษย์และทีมงานฝ่ายสนับสนุนในสำนักงานหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ เครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชายแดนใต้ ลูกศิษย์ที่อยู่ในต่างประเทศอีกจำนวนมาก รวมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและไอที ทำให้ระบบข้อมูลและสถิติต่างๆ มีการพัฒนา เกิดฐานข้อมูลที่มีระบบและสามารถใช้งานได้ดีขึ้น

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

การเกิดโรคระบาดแต่ละครั้ง ทำให้ประเทศชะงักในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเดินทางต่างๆ ศ. นพ. วีระศักดิ์ ได้ให้ความเห็นว่า “รัฐบาลควรเห็นความสำคัญกับระบาดวิทยา ในการให้ทุนสนับสนุนบุคลากรเพื่อการศึกษาวิจัย และการผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะชายแดนใต้ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคหลากหลายชนิด อีกทั้งยังมีลักษณะประชากรที่ไม่เหมือนกัน โดยเรามีความสามารถในการดำเนินการ มีหลักสูตรนานาชาติสำหรับการเรียนการสอน มีผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการซึ่งตีพิมพ์จำนวนมาก มีความชำนาญในพื้นที่ โดยผมและทีมบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ ได้พัฒนาข้อเสนอโครงการที่สามารถทำได้รวดเร็ว ตอบโจทย์แหล่งทุน และเป็นการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย”

นอกจากนั้นยังมีโครงการวิจัยที่ได้รับการพัฒนาโครงการและอยู่ระหว่างการพิจารณาของแหล่งทุน 4 โครงการ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ทำหน้าที่ประสานงานกับแหล่งทุน และกำกับการดำเนินงานเพื่อให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนด ได้แก่ เรื่องความชุกของการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในผู้ป่วยปอดอักเสบที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลา เรื่องการพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการใช้เทคโนโลยี Whole Genome Sequencing เพื่อควบคุมการระบาดเชื้อ Acinetobacter Bummanii ที่ดื้อยาปฏิชีวนะอย่างยิ่งยวดในโรงพยาบาล เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยวิธีการรวมตัวอย่าง และ เรื่องการพัฒนากระบวนการและฐานข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มประชากรไทยข้ามพรมแดนในเขตสุขภาพที่ 12

งานของ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ส่วนใหญ่เป็นงานให้คำปรึกษาแนะนำ แนวคิดกับเครือข่ายที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และยังมีงานเขียนบทความทางวิชาการตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการใช้ภาษาง่ายๆ อ่านสนุกๆ เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไป

โดยผู้สนใจสามารถติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับ Covid-19 ได้ที่ https://sites.google.com/psu.ac.th/covid-19

หรือติดตามบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้จาก Facebook Prof.Virasakdi Chongsuvivatwong